วันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2558

มนต์คาถาจากธัมมปทัฏฐกถา: คาถามหาเสน่ห์



ฐะเปตวา ญาติสาโลหิติตถิโย อวเสสา มัง ทิสวา ระชันติ.

(คำแปล เว้นหญิงที่เป็นญาติสาโลหิตเสีย หญิงที่เหลือเห็นเราแล้วจงกำหนัด)

มาจาก อรรถกถาธรรมบท นิรยวรรค เรื่องบุตรเศรษฐีชื่อเขมกะ 

เรื่องบุตรเศรษฐีชื่อเขมกะมีว่าดังนี้:

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภบุตรเศรษฐีชื่อเขมกะ   ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  จตฺตาริ  ฐานานิ  เป็นต้น

นายเขมกะ  นอกจากจะมีชาติตระกูลดี   ก็ยังเป็นชายหนุ่มรูปหล่อ   เป็นที่ถูกตาต้องใจของบรรดาสาวน้อยสาวใหญ่ทั้งหลาย   ซึ่งแต่อนงค์นางต่างยินยอมพร้อมใจพลีร่างมีเพศสัมพันธ์กับนายเขมะคนนี้ทั้งนั้น   นายเขมกะเองก็ชอบเรื่องแบบนี้ด้วย จึงได้ประกอบกิจกรรมที่เรียกว่า ปรทารกรรม”(เป็นชู้กับภรรยาของผู้อื่น) อยู่เป็นอาจิณ  พวกราชบุรุษเคยจับนายเขมะในข้อหาเป็นชู้กับภรรยาของคนอื่นและนำตัวไปถวายเจ้าปเสนทิโกศลถึง 3 ครั้ง   แต่พระราชามีรับสั่งให้ปล่อยตัวไปทุกครั้ง  เพราะว่านายเขมะผู้นี้เป็นหลานของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี   เมื่อท่านเศรษฐีทราบเรื่อง ก็ได้นำตัวนายเขมกะเข้าเฝ้าพระศาสดา  และกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ขอพระองค์โปรดแสดงธรรมแก่นายเขมกะนี้

พระศาสดาทรงแสดง   สังเวคกถา  (คำที่ชวนให้เกิดความสลดใจ)  และเมื่อจะทรงแสดงโทษในการเสพภรรยาของคนอื่น  ได้ตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

จตฺตาริ   ฐานานิ  นโร  ปมตฺโต
อาปชฺชตี  ปรทารูปเสวี
อปุญฺญลาภํ  น นิกามเสยฺยํ
นินทํ  ตติยํ  นิรยํ  จตุตฺถํ
อปุญฺญลาโภ    คตี     ปาปิกา
ภีตสฺส  ภีตาย  รตี     โถกิกา
ราชา จ  ทณฺฑํ  ครุกํ  ปเณติ
ตสฺมา  นโร  ปรทารํ  น เสเว.

นระผู้ประมาท  ชอบเสพภรรยาของคนอื่น
ย่อมถึงฐานะ  4  อย่าง คือ
การได้สิ่งที่มิใช่บุญ(เป็นที่ 1)
การนอนไม่ได้ตามความปรารถนา(เป็นที่2)
การนินทาเป็นที่ 3  นรกเป็นที่ 4
ได้สิ่งมิใช่บุญอย่าง 1
คติลามกอย่าง 1
ความยินดีของบุรุษผู้กลัว  กับด้วยหญิงผู้กลัว   มีประมาณน้อยอย่าง 1
พระราชาย่อมลงอาชญาอันหนักอย่าง 1
เพราะฉะนั้น  นระไม่ควรเสพภรรยาของคนอื่น.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง  นายเขมกะ  บรรลุโสดาปัตติผล   ตั้งแต่นั้นมา  มหาชนนอนตาหลับ.

สำหรับมนต์คาถาว่า ฐเปตฺวา  ญาติสาโลหิติตฺถิโย  อวเสสา  มํ  ทิสฺวา  รชนฺติ เป็นตอนที่พระคัมภีร์เล่าถึงบุรพกรรมของนายเขมะว่า  ในสมัยของพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะนั้น  นายเขมกะเป็นนักมวยที่เก่งที่สุด   และมีความเข้มแข็งมาก  ได้ยกธงทอง 2  แผ่นขึ้นไว้ที่สถูปทองคำของพระกัสสปพุทธเจ้า  แล้วตั้งความปรารถนาตามภาษาบาลีข้างต้นซึ่งมีคำแปลว่า เว้นหญิงที่เป็นญาติสาโลหิตเสีย  หญิงที่เหลือเห็นเราแล้วจงกำหนัดเพราะฉะนั้น  เมื่อเขาไปเกิดในภพชาติใดก็ตาม   หญิงคนใดได้เห็นเขาแล้ว  หญิงคนนั้นก็จะเกิดความหลงใหลในความมีเสน่ห์ของเขา  จนคุมสติคุมอารมณ์อยู่มิได้.


มนต์คาถาจากธัมมปทัฏฐกถา: คาถาพระเจ้าห้ามอาวุธ



สัตถา ธะนุง อากัฑฒิตุง ทัตวา วิสัชเชตุง นาทาสิ.

(คำแปล พระศาสดาให้โก่งธนูได้แต่ไม่ให้ยิงธนูไปได้)

มาจาก อรรถกถาธรรมบท ปาปวรรค เรื่องพรานกุกกุฏมิตร

เรื่องพรานกุกกุฏมิตรมีว่าดังนี้

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน   ทรงปรารภนายพรานชื่อกุกกุฏมิตร  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า
ปาณิมฺหิ  เจ  วโณ   นาสฺส  เป็นต้น

ที่กรุงราชคฤห์  มีบุตรสาวเศรษฐีผู้หนึ่งได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันตั้งแต่ยังอยู่ในวัยสาวรุ่น  อยู่มาวันหนึ่ง  นายพรานผู้หนึ่งชื่อกุกกุฏมิตร ได้ขับเกวียนบรรทุกเนื้อสัตว์มาขายในเมือง  บุตรสาวของเศรษฐียืนอยู่บนปราสาท  7 ชั้น แลเห็นนายพรานกุกกุมิตรก็เกิดนึกรักขึ้นมาในฉับพลันในลักษณะรักแรกพบเพราะเคยทำบุญร่วมกันมาแต่ชาติปางก่อน  นางได้หอบผ้าหอบผ่อนลงจากปราสาทเดินติดตามไปอยู่กับนายพรานที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง  จากการอยู่กินกันทำให้เกิดผลิตผลของความรักเป็นบุตรชายถึง  7 คน  เมื่อบุตรทั้ง 7 คนเจริญวัยก็ได้แต่งงานกับหญิงที่มีฐานะเท่าเทียมกัน

อยู่มาวันหนึ่ง  พระศาสดาทรงตรวจดูสัตวโลกเวลาใกล้รุ่ง  ทรงเห็นพรานกุกกุฏมิตรกับบุตรและสะใภ้ เข้าไปในข่ายคือพระญาณของพระองค์   ทรงใคร่ครวญแล้วก็ทรงทราบว่า   คนเหล่านั้นจะได้บรรลุโสดาปัตติผล จึงทรงถือบาตรและจีวรเสด็จไปยังที่ดักบ่วงของนายพรานนั้นแต่เช้าตรู่   ปรากฏว่าวันนั้นไม่มีสัตว์ตัวใดติดบ่วงเลย  พระศาสดาได้ทรงเหยียบรอยพระบาทไว้ที่ใกล้บ่วงของนายพราน แล้วประทับนั่งใต้ร่มพุ่มไม้พุ่มหนึ่งไม่ไกลจากนั้น  นายพรานกุกกุฏมิตรถือธนูไปยังที่ดักบ่วงแต่เช้า  ตรวจดูบ่วงที่ดักไว้  ไม่เห็นสัตว์แม้แต่ตัวเดียวติดบ่วง  เห็นแต่รอยพระบาทที่พระศาสดาประทับไว้นั้น  ก็เข้าใจว่าเจ้าของรอยเท้าคือคนที่ปล่อยสัตว์ออกจากบ่วง  จึงเดินตามไปพบพระศาสดาประทับนั่งอยู่ที่โคนพุ่มไม้ คิดว่า  สมณะองค์นี้ปล่อยเนื้อของเรา  เราจะฆ่าสมณะนั้นเสีย  ก็นำลูกธนูใส่แล่งโก่งธนูจะยิง  พระศาสดาได้ทรงแสดงพุทธานุภาพเกิดเป็นปาฏิหาริย์ โดยทรงยอมให้นายพรานกุกกุมิตรโก่งธนูได้  แต่ไม่ทรงยอมให้ลูกธนูแล่นออกมาจากแล่ง   นายพรานพบกับปาฏิหาริย์ของพุทธานุภาพถึงกับตัวแข็งทื่ออยู่ในอิริยาบถยืนน้าวธนูไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ พวกบุตรทั้ง  7 คนเห็นบิดาไม่กลับบ้านก็เที่ยวตามหา   ก็ได้ไปพบบิดายืนตัวแข็งทื่ออยู่อย่างนั้นและเห็นพระศาสดาก็เข้าใจว่าเป็นศัตรูของบิดาแน่ๆ  แต่ละคนจึงนำลูกธนูสอดเข้าแล่งแล้วโก่งธนูจะยิง  แต่ก็เกิดปาฏิหาริย์ด้วยพุทธานุภาพทำให้ทุกคนเกิดการจังงังอยู่ในอิริยาบถตัวแข็งทื่อเคลื่อนไหวไม่ได้เหมือนกับบิดา  เมื่อภรรยาของนายพรานไม่เห็นสามีและบุตรชายกลับบ้านก็ได้เดินตามหาพร้อมด้วยสะใภ้ทั้ง  7 มาพบคนทั้งแปดคนตัวแข็งทื่อยืนน้าวธนูเล็งเป้าไปที่พระศาสดาเช่นนั้น  ก็ร้องขึ้นว่า พวกท่านอย่าฆ่าบิดาของเรา ๆพอนายพรานกุกกุฏมิตรได้ยินเช่นนั้น  ก็เข้าใจว่า คนที่เขาจะยิงนั้นคือพ่อตาของเขาเอง  ส่วนพวกลูกชายทั้งเจ็ดคนก็เข้าใจว่าผู้ที่เขาจะยิงคือตาของพวกเขา  ดังนั้นเมตตาจิตจึงบังเกิดแก่นายพรานและบุตรทั้งเจ็ดคนนั้น  ภรรยานายพรานจึงกล่าวขึ้นว่า  พวกเจ้าจงทิ้งธนูเสียโดยเร็วแล้วขอโทษบิดาของฉัน  เมื่อคนเหล่านั้นวางธนูและเข้าไปถวายบังคมขอขมาลาโทษแล้ว  พระศาสดาได้แสดงอนุปุพพิกถาโปรด  เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง  นายพรานกุกกุฎมิตรพร้อมทั้งบุตรและสะใภ้ซึ่งมีจำนวนรวมกัน 15 คนก็ได้สำเร็จพระโสดาปัตติผล

จากนั้น  พระศาสดาได้เสด็จพุทธดำเนินกลับพระเวฬุวัน  และได้ตรัสบอกพระอานนท์และพระภิกษุอื่นๆว่า  พระองค์เพิ่งกลับมาจากการเสด็จไปโปรดนายพรานกุกกุฏมิตรและครอบครัวจนทำให้ทุกคนได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน  พวกภิกษุทั้งหลายกราบทูลถามว่า  ภรรยาของนายพรานกุกกุฏมิตร เป็นพระโสดาบัน  แม้ว่าจะไม่มีเจตนาฆ่าสัตว์ด้วยตัวเองก็จริง  แต่ก็เป็นผู้ส่งข่าย  คันธนู  และลูกธนูให้แก่สามีที่จะออกไปล่าสัตว์  อย่างนี้จะมิถือว่าพระโสดาบันกระทำปาณาติบาตละหรือ?”  พระศาสดาตรัสตอบว่า  ภิกษุทั้งหลาย  พระโสดาบันย่อมไม่ทำปาณาติบาต  ที่นางทำอย่างนั้น ด้วยแค่คิดว่า  เราจักทำตามคำของสามี  จิตของนางไม่มีเลยว่า  สามีนั้นจงถือเอาเครื่องประหารนี้ไปทำปาณาติบาต  จริงอยู่  เมื่อแผลในฝ่ามือไม่มี  ยาพิษนั้นก็ไม่อาจจะให้โทษแก่ผู้ถือยาพิษได้  ฉันใด  ชื่อว่าบาปบ่อมไม่มีแก่ผู้ไม่ทำบาป  แม้นำเครื่องประหารทั้งหลายมีธนูเป็นต้นออกให้  เพราะไม่มีอกุศลเจตนา  ฉันนั้นเหมือนกัน

จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า

ปาณิมฺหิ   เจ  วโณ   นาสฺส  
หเรยฺย   ปาณินา  วิสํ
นาพฺพณํ   วิสมนฺเวติ                           
นตฺถิ   ปาปํ   อกุพฺพโตฯ

ถ้าแผลไม่พึงมีในฝ่ามือไซร้
บุคคลพึงนำยาพิษไปด้วยฝ่ามือได้
เพราะยาพิษย่อมไม่ซึมเข้าไปสู่ฝ่ามือที่มีมีแผล  ฉันใด
บาปย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่ทำอยู่  ฉันนั้น.

เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง   ชนเป็นอันมาก  บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.

สำหรับพระคาถาที่ว่า “สัตถา  ธะนุง   อากัฑฒิตุง  ทัตวา  วิสัชเชตุง  นาทาสิ  นี้ก็คือภาษาบาลีบรรยายเหตุการณ์ตอนที่พระพุทธเจ้าใช้พุทธานุภาพบันดาลให้คนยิงธนูคือนายพรานกุกกุฏมิตรและลูก 7 คนให้น้าวคันธนูได้แต่ไม่ยอมให้ลูกธนูหลุดออกมาจากแล่ง และให้เกิดการจังงังหยุดอยู่กับที่จะลดธนูลงก็ทำไม่ได้อีกด้วย.

มนต์คาถาจากธัมมปทัฏฐกถา: คาถาคุ้มครองทรัพย์



ฆเฏสิ ฆเฏสิ กิงการณา ฆเฏสิ อะหังปิ  ตัง  ชานามิ ชานามิ.

(คำแปล ท่านเพียรไปเถิด เพียรไปเถิด, เพราะเหตุไร? ท่านจึงเพียร, แม้เราก็รู้เหตุนั้นอยู่ รู้อยู่)

ใช้ท่องเพื่อคุ้มครองทรัพย์สินในบ้าน ก่อนลั่นกุญแจออกจากบ้านก็ให้ท่องบ่นพระคาถานี้ เมื่อยามค่ำคืนก่อนนอนก็ท่องบ่นมนต์คาถานี้ หากจะเกิดอันตรายขึ้นก็จะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากระซิบบอกและช่วยปกป้องให้พ้นจากภยันตรายนาประการแล.

มาจากเรื่อง ธัมมปทัฏฐกถา อัปปมาทวรรค เรื่อง พระจูฬปันถกเถระ 

เรื่องพระจูฬปันถกเถระ มีดังนี้:

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ทรงปรารภพระเถระชื่อจูฬปันถก ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 25 นี้
เศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ผู้หนึ่ง มีหลานชาย 2 คน คนหนึ่งชื่อ มหาปันถก และอีกคนหนึ่งชื่อ จูฬปันถก  คนที่ชื่อมหาปันถกเป็นพี่ชาย เคยติดตามท่านเศรษฐีผู้เป็นตาไปฟังพระธรรมเทศนาอยู่บ่อยๆและ ต่อมาคนที่ชื่อมหาปันถกนี้ก็ได้บวชเป็นพระภิกษุและไม่นานก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์  ส่วนคนที่ชื่อจูฬปันถกผู้น้องนั้นก็ตามมาบวชเหมือนกัน แต่เนื่องจากในอดีตชาติเมื่อครั้งพระกัสสปพุทธเจ้าเคยล้อเลียนภิกษุรูปหนึ่งที่ปัญญาทึบ จึงเกิดมาเป็นคนปัญญาทึบในชาตินี้  จูฬปันถกไม่สามารถจดจำพระคาถาได้แม้แต่พระคาถาเดียวแม้จะใช้เวลาเพียรพยายามจดจำอยู่ถึง 4 เดือน  พระมหาปันถกผู้พี่ชายเกิดความผิดหวังกับน้องชายเป็นอย่างมาก ถึงกับบอกว่าไม่คู่ควรที่จะบวชเป็นพระอยู่ต่อไป

ในช่วงเดียวกันนั้นเอง หมอชีวกโกมารภัจได้มาที่วัดเวฬุวันเพื่อนิมนต์พระศาสดาพร้อมกับภิกษุสงฆ์ไปฉันภัตตาหารที่บ้านของตน  พระมหาปันถกซึ่งตอนนั้นทำหน้าที่เป็นพระภัตตุเทศก์ คือทำหน้าที่มอบหมายพระไปฉันตามแหล่งที่นิมนต์ไว้ นั้นได้ขีดฆ่าชื่อของพระจูฬบันถกออกจากบัญชีพระที่จะไปฉันภัตตาหาร เมื่อพระจูฬปันถกทราบเรื่องนี้ก็รู้สึกเสียใจมาก และได้ตัดสินใจจะลาเพศไปครองตัวเป็นฆราวาสดังเดิม  พระศาสดาทรงทราบเรื่องนี้ด้วยญาณพิเศษจึงเสด็จมาพาพระจูฬปันถกไปนั่งอยู่ที่หน้าพระคันธกุฎี จากนั้นพระองค์ได้ประทานผ้าขาวชิ่นหนึ่งให้แก่พระจูฬปันถกแล้วตรัสบอกให้หันหน้าไปทางทิศตะวันออกแล้วใช้มือถูผ้าชิ้นนั้นอยู่เรื่อยๆ  ในขณะที่เอามือถูผ้าชิ่นนั้นก็ให้ภาวนาว่า รโชหรณํ ๆๆซึ่งแปลว่า  ผ้าเช็ดธุลี ๆๆ จากนั้นพระองค์ก็ได้เสด็จไปยังเรือนของหมอชีวกโกมารภัจ   พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย

ในขณะเดียวกันนั้น พระจูฬปันถกก็ได้เอามือถูผ้าขาวชิ้นนั้นๆ แล้วภาวนาว่า รโชหรณํ ๆๆๆ  ในไม่ช้าผ้าขาวชิ้นนั้นก็เกิดความสกปรก เมื่อพระจูฬปันถกเห็นความเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นกับผ้า ก็รู้แจ้งเห็นจริงว่า สิ่งทั้งหลายมีความไม่เที่ยง  พระศาสดาทั้งที่ประทับอยู่ที่เรือนของหมอชีวกโกมารภัจทรงทราบความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมของพระจุลปันถกโดยพระญาณพิเศษ  จึงได้แผ่รัศมีไปปรากฏพระองค์อยู่เบื้องหน้าพระจุลปันถกตรัสว่า

มิใช่ว่าจะมีเพียงชิ้นผ้านี้เท่านั้นที่ทำให้สกปรกได้ด้วยฝุ่นธุลี  แต่ภายในของคนเราก็ยังมีฝุ่นธุลีคือ ราคะ โทสะ และโมหะ กล่าวคือ ความไม่รู้ในอริยสัจ 4 โดยการขจัดราคะ โทสะ และโมหะเหล่านี้ ก็จะทำให้บุคคลบรรลุเป้าหมายและบรรลุพระอรหัตตผลได้  พระจุลปันถกฟังพระธรรมเทศนานั้นแล้วนำมาเพ่งพินิจ ต่อมาไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัตตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณ   ด้วยเหตุนี้พระจุลปันถกจึงยุติความเป็นคนปัญญาทึบตั้งแต่นั้น

ส่วนที่เรือนของหมอชีวก เป็นช่วงเวลาที่คนทั้งหลายกำลังจะรินน้ำทักษิโณทกเป็นสัญญาณการถวายทานอยู่พอดี แต่พระศาสดาได้เอาพระหัตถ์มาปิดบาตรเอาไว้ และตรัสถามว่าที่วัดยังมีพระตกค้างอยู่หรือไม่  เมื่อได้รับคำทูลตอบว่าไม่มีพระอยู่ที่นั่น พระศาสดาตรัสว่ายังมีพระอยู่รูปหนึ่ง จึงได้ตรัสบอกคนไปพาพระจุลปันถกมาจากวัด  เมื่อคนคนนั้นออกเดินทางจากเรือนของหมอชีวกโกมารภัจไปถึงที่วัดก็ได้พบพระภิกษุที่รูปร่างเหมือนๆกันอยู่จำนวน 1000 รูป   ภาพนิมิตของพระเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นมาด้วยอานุภาพฤทธิ์ของพระจุลปันถก  คนที่ส่งไปนั้นเกิดความสับสนและได้กลับมารายงานเรื่องนี้ให้หมอชีวกโกมารภัจได้ทราบ  หมอชีวกโกมารภัจได้ส่งคนคนนี้ไปอีกเป็นครั้งที่สอง  โดยให้ไปบอกว่าพระศาสดาตรัสเรียกภิกษุที่ชื่อว่าจุลปันถก  เมื่อคนคนนี้ไปพูดตามที่บอก พระทั้งพันรูปนั้นก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า อาตมาคือพระจูฬปันถก ๆๆๆคนไปตามพระเกิดความสับสนขึ้นอีกและได้กลับมารายงานอีกเป็นครั้งที่สอง  คราวนี้หมอชีวกโกมารภัจได้ส่งคนไปตามพระนั้นกลับไปที่วัดเป็นครั้งที่สามและได้บอกผู้ไปตามพระว่าให้จับแขนพระรูปที่พูดเป็นรูปแรกว่า อาตมาคือพระจูฬปันถกเอาไว้ให้ดี  ทันทีที่เขาไปจับแขนของพระรูปที่พูดเป็นรูปแรกเอาไว้รูปนิมิตอื่นก็หายไปทั้งหมด  และพระจุลปันถกก็ได้เดินตามคนไปตามพระนั้นมาที่เรือนของหมอชีวกโกมารภัจ หลังจากฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว  พระจูฬปันถกซึ่งได้รับบัญชาจากพระศาสดาได้แสดงธรรมอย่างมั่นใจและองอาจเสียงดังฟังชัดดุจราชสีห์หนุ่มบันลือสีหนาท

ต่อมาเมื่อภิกษุทั้งหลายนำเรื่องนี้มาสนทนากัน พระศาสดาได้ตรัสว่า บุคคลที่ขยัน มีความบากบั่น ไม่ท้อถอย ย่อมจะบรรลุพระอรหัตตผล

จากนั้นพระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 25 ว่า

อุฏฺฐาเนนปฺปมาเทน
สญฺญเมน ทเมน จ
ทีปํ กริยาถ เมธาวี
ยํ โอโฆ นาภิกีรติฯ

โดยความขยัน ไม่ประมาท
สำรวมระวัง(มีศีล) และข่มใจตนเอง
ผู้มีปัญญาพึงสร้างเกาะ(ที่พึ่ง)
ที่ห้วงน้ำ(กิเลส) ท่วมไม่ถึง.

เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง  ชนเป็นอันมาก  ได้บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น  เทศนามีประโยชน์แก่มหาชนผู้มาประชุมกัน.

สำหรับคาถาที่ว่า “ฆเฏสิ ฆเฏสิ กิงการณา ฆเฏสิ อะหังปิ ตัง  ชานามิ ชานามิ” นั้นก็มาจากเรื่องพระจูฬปันถกเถระนี้แหละ เป็นช่วงตอนที่พระพุทธเจ้าทรงยกเอานิทานชาดกว่าด้วยอดีตชาติของพระจูฬปันถกเมื่อคราวที่เป็นนักศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยตักกสิลามาเล่าแก่ภิกษุทั้งหลายว่า แม้ในชาตินั้นจูฬปันถกก็เป็นคนปัญญาทึบ เรียนอะไรจำไม่ค่อยจะได้ อาจารย์ทิศาปาโมกข์(คือพระพุทธองค์ที่ทรงเป็นพระโพธิสัตว์)มีความเมตตาสงสารจึงมอบมนต์คาถาดังกล่าวให้ท่องจำจนขึ้นใจแล้วส่งตัวให้กลับบ้าน พร้อมกับได้กำชับว่า จงใช้มนต์คาถานี้เลี้ยงชีพ และเพื่อไม่ให้เกิดการลืมเลือนก็จะต้องท่องมนต์นี้อยู่เป็นนิตย์ เมื่อบัณฑิตหนุ่มปัญญาทึบแห่งมหาวิทยาลัยตักกสิลากลับถึงบ้านเมืองของตนแล้ว มีอยู่คืนหนึ่งพวกโจรกำลังจะเข้าไปย่องเบาขโมยของที่บ้านหลังหนึ่ง ก็พอดีกับที่บัณฑิตหนุ่มปัญญาทึบแห่งมหาวิทยาลัยตักกสิลาตื่นขึ้นมาท่องมนต์บทนี้ เมื่อพวกโจรได้ยินก็คิดว่าเจ้าของบ้านรู้สึกตัวจึงพากันรีบหนีไป และก็พอดีอีกเหมือนกันกับที่พระราชาทรงปลอมพระองค์ออกลาดตระเวนดูตามบ้านต่างๆทรงเห็นเหตุการณ์นั้นด้วยจึงมีรับสั่งให้เข้าเฝ้ายังพระราชวังและทรงเรียนมนต์คาถานี้จากบัณฑิตปัญญาทึบนั้น และพระองค์ได้นำมนต์คาถาบทนี้ไปท่องจำจนขึ้นใจจนสามารถรอดพ้นจากอันตรายจากการที่จะถูกนายกัลบกใช้มีดโกนทำร้ายได้.