01 เรื่องพระจักขุปาลเถระ
ขณะที่พระศาสดาประทับอยู่ที่วัดพระเชตวัน
ทรงปรารภพระจักขุปาลเถระผู้ตาบอด
ตรัสพระธรรมบทพระคาถาที่ 1 นี้
ครั้งหนึ่งพระจักขุปาลเถระเดินทางไปเฝ้าพระศาสดาที่วัดพระเชตวัน
ในคืนหนึ่งขณะที่ท่านเดินจงกรมอยู่นั้น
พระเถระก็ได้เหยียบแมลง(เม่า)ตายโดยไม่มีเจตนา
ในตอนเช้าพวกพระภิกษุที่ไปเยี่ยมพระเถระพบแมลงที่ตายนั้นเข้า
มีความคิดว่าพระเถระทำสัตว์ให้ตายโดยเจตนา จึงนำความขึ้นทูลพระศาสดา พระศาสดาได้ตรัสถามภิกษุเหล่านั้นว่า
เห็นพระเถระฆ่าแมงเหล่านั้นโดยเจตนาหรือไม่
เมื่อพระภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่าไม่เห็น
ตรัสว่า “พวกเธอไม่เห็นจักขุปาลฆ่าสัตว์ฉันใด
จักขุปาลก็ไม่เห็นแมลงเหล่านั้นฉันนั้น นอกจากนั้นแล้ว พระจักขุปาลนี้ก็เป็นพระอรหันต์แล้ว
จึงไม่มีเจตนาที่จะฆ่าสัตว์และเป็นผู้บริสุทธิ์” เมื่อภิกษุทั้งหลายทูลถามว่า
พระจักขุปาลเถระนี้เป็นถึงพระอรหันต์แต่เพราะเหตุใดจึงตาบอด
พระศาสดาได้นำเรื่องในอดีตชาติของท่านมาตรัสเล่าว่า
ในอดีตชาติพระจักขุปาลเป็นแพทย์ ครั้งหนึ่งไปรักษาตาให้แก่คนไข้หญิงคนหนึ่ง
คนไข้หญิงคนนี้ได้ให้สัญญากับนายแพทย์ว่านางกับลูกๆจะยอมเป็นข้าทาสรับใช้หากว่าดวงตาที่บอดทั้งสองข้างของนางสามารถรักษาให้หายได้ แต่ต่อมานางกลัวว่านางพร้อมกับลูกๆจะต้องตกเป็นทาสของนายแพทย์จริงๆ
จึงได้พูดโกหกนายแพทย์ไปว่าดวงตาทั้งสองข้างของนางมีอาการแย่ไปกว่าเดิมทั้งๆที่ได้รับการบำบัดหายขาดไปแล้ว
ข้างนายแพทย์ก็รู้ว่าคนไข้ของเขาหลอกลวงจึงได้แก้เผ็ดด้วยการผสมสารพิษลงในยาหลอดยาให้คนไข้นางนั้นหยอด พอนางหยอดเข้าไปก็เลยทำให้ตาบอดสนิททั้งสองข้าง
เพราะผลของอกุศลกรรมในครั้งนั้นทำให้นายแพทย์ต้องตาบอดหลายครั้งในภพชาติต่างๆ
จากนั้นพระศาสดาได้ตรัสความในพระคาถาที่ 1
นี้ว่า
มโนปุพพงฺคมา ธมฺมา
มโนเสฏฺฐา มโนมยา
มนสา เจ ปทุฏเฐน
ภาสติ วา กโรติ วา
ตโต นํ ทุกฺขมนฺวติ
จกฺกํ ว วหโต ปทํฯ
ทุกสิ่งทุกอย่างมีใจเป็นผู้นำ มีใจเป็นใหญ่
สำเร็จได้ด้วยใจ ถ้าคนเรามีใจชั่วเสียแล้ว
การพูด การกระทำก็พลอยชั่วไปด้วย
เพราะการพูดชั่วกระทำชั่วนั้น
ทุกข์ย่อมตามสนองเขา
เหมือนล้อเกวียนหมุนตามรอยเท้าโค.
เมื่อเทศนาจบลง ภิกษุ 30000
รูปได้บรรลุเป็นพระอรหันต์พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา.
--------------------------------------------------------------------------------
02 เรื่องมัฏฐกุณฑลี
เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ที่พระเชตวัน
กรุงสาวัตถี ทรงปรารภมัฏฐกุณฑลี
ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 2 นี้
มัฏฐกุณฑลีเป็นชายหนุ่ม มีบิดาชื่อ อทินนปุพพกะ
ซึ่งเป็นเศรษฐีที่มีความตระหนี่ไม่เคยบริจาคทานให้แก่ผู้ใด แม้แต่เครื่องประดับสำหรับบุตรชายเขาก็ทำให้เอง
เพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย(ค่ากำเหน็จ)สำหรับช่างเงินช่างทอง เมื่อบุตรชายคนนี้ล้มเจ็บลง
แทนที่ท่านเศรษฐีจะไปจ้างแพทย์มาทำการรักษาก็ใช้ยากลางบ้านมารักษาตามมีตามเกิด
จนกระทั่งอาการของบุตรชายเข้าขั้นโคมา
เมื่อรู้ว่าบุตรชายจะต้องตายแน่แล้ว
เขาก็นำบุตรชายที่มีอาการร่อแร่ใกล้ตายนั้นออกไปนอนเสียนอกบ้าน
เพื่อที่ว่าคนอื่นๆที่มาเยี่ยมลูกชายที่บ้านจะได้ไม่สามารถมองเห็นทรัพย์สมบัติของเขาได้
ในเช้าวันนั้น พระศาสดาทรงใช้ข่ายคือพระญาณของพระองค์(ลักษณะคล้ายๆกับเรดาร์แต่มีสมรรถนะเหนือกว่ามาก)ทำการตรวจจับดูอัธยาศัยของคนที่จะได้เสด็จไปโปรด ก็ได้พบมัฏฐกุณฑลีนี้มาปรากฏอยู่ในข่าย ดังนั้นเมื่อพระองค์เสด็จเข้าไปบิณฑบาตในกรุงสาวัตถีจึงได้ไปประทับยืนอยู่ที่ใกล้ประตูบ้านของอทินนบุพกเศรษฐี
พระศาสดาทรงฉายฉัพพรรณรังสีไปยังที่ที่มัฏฐกุณฑลีนอนหันหน้าเข้าหาตัวเรือน มัฏฐกุณฑลีได้หันกลับมามองดูพระศาสดา
แต่ตอนนั้นอาการป่วยของเขาร่อแร่จนไม่สามารถทำสิ่งใดได้นอกจากน้อมใจทำการเคารพพระศาสดา
เมื่อมัฏฐกุณฑลีสิ้นชีวิตด้วยจิตใจที่เลื่อมใสศรัทธาต่อพระศาสดา
ก็ได้ไปเกิดอยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
เมื่อไปเกิดอยู่บนสวรรค์แล้ว
มัฏฐกุณฑลีมองลงมาด้วยตาทิพย์เห็นบิดาเข้าไปรำพึงรำพันถึงเขาอยู่ในป่าช้า
ก็ได้แปลงตัวมาเป็นชายชรามีรูปร่างเหมือนกับมัฏฐกุณฑลีไม่มีผิด
ร่างแปลงนั้นได้บอกบิดาของเขาว่าเขาได้ไปเกิดอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์แล้ว
และได้พูดกระตุ้นบิดาให้ไปทูลนิมนต์พระศาสดามารับภัตตาหารที่บ้าน
และที่บ้านของอทินนปุพพกเศรษฐีก็มีการตั้งคำถามขึ้นมาว่า
เป็นไปได้หรือไม่ที่บุคคลตายแล้วจะไปเกิดบนสวรรค์เพียงแค่ทำใจให้มีศรัทธาในพระพุทธเจ้าเท่านั้น
โดยไม่มีการถวายทาน และรักษาศีลแต่ประการใดทั้งสิ้น
ดังนั้นพระศาสดาจึงทรงอธิษฐานจิตให้มัฏฐกุณฑลีมาปรากฏในร่างของเทวดา
และมัฏฐกุณฑลีก็ได้มาปรากฏตัวในร่างของเทวดาพร้อมด้วยเครื่องประดับที่เป็นทิพย์
และได้บอกว่าตนได้ไปเกิดอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์จริงๆ เมื่อมีหลักฐานพยานปรากฏเช่นนี้แล้ว
คนที่มาชุมนุมกันอยู่ ณ
ที่นั้นก็เกิดความมั่นใจว่าบุตรชายของอทินนปุพพกเศรษฐีไปเกิดบนสวรรค์เพียงแค่ทำใจให้มีศรัทธาในพระศาสดาเท่านั้นเองได้จริงๆ
ต่อแต่นั้นพระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบทที่ 2
นี้ว่า
มโนปุพพงฺคมา ธมฺมา
มโนเสฏฺฐา มโนมยา
มนสา เจ ปสนฺเนน
ภาสติ
วา กโรติ วา
ตโต นํ
สุขมนฺวติ
ฉายา
ว อนุปายินีฯ
ทุกสิ่งทุกอย่างมีใจเป็นผู้นำ มีใจเป็นใหญ่
สำเร็จได้ด้วยใจ ถ้าคนเรามีใจบริสุทธิ์
การพูด การกระทำก็พลอยบริสุทธิ์ไปด้วย
เพราะการพูดและกระทำอันบริสุทธิ์นั้น
ความสุขย่อมตามสนองเขา
เหมือนเงาติดตามตน.
เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง ดวงตาเห็นธรรมได้มีแล้วแก่สัตว์จำนวน 84000 เทวบุตรชื่อมัฏฐกุณฑลีบรรลุโสดาปัตติผล
พราหมณ์ชื่ออทินนกบุพพะก็ได้บรรลุโสดาปัตติผลเช่นกัน และพราหมณ์อทนินนกบุพพกะได้สละทรัพย์เป็นอันมากในพระพุทธศาสนา.
--------------------------------------------------------------------------------
03 เรื่องพระติสสเถระ
เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ที่วัดพระเชตวัน
กรุงสาวัตถี ทรงปรารภพระติสสเถระ ตรัสพระธรรมบทพระคาถาที่ 3
และที่ 4 นี้
พระติสสเถระ เป็นบุตรพระญาติข้างพระมารดาของพระศาสดา ครั้งหนึ่งได้มาอยู่กับพระศาสดา
ติสสเถระอุปสมบทเป็นภิกษุเมื่อตอนชราภาพแล้ว
แต่ได้ทำตัวเหมือนกับว่าเป็นพระเถระและจะแสดงความดีใจเมื่อพระอาคันตุกะขออนุญาตทำกิจวัตรที่พระผู้น้อยสมควรทำแก่พระผู้ใหญ่กับท่าน
ตรงกันข้ามท่านติสสเถระไม่ยอมทำกิจวัตรที่ตนในฐานะที่เป็นพระพรรษาน้อยจะต้องทำแก่พระผู้ใหญ่
ยิ่งไปกว่านั้นท่านก็ยังทะเลาเบาะแว้งกับพระภิกษุหนุ่มอยู่เป็นประจำ
หากมีใครว่ากล่าวตักเตือนในเรื่องพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของตนนี้ ท่านก็จะนำเรื่องไปฟ้องกับพระศาสดา
แล้วแสร้งบีบน้ำตาห้องไห้แสดงความไม่พอใจและความผิดหวังออกมา
พวกพระอื่นๆก็ได้ติดตามพระติสสเถระไปเฝ้าพระศาสดา
พระศาสดาได้ตรัสสอนพระภิกษุทั้งหลายไม่ให้สร้างความรู้สึกผูกใจเจ็บ เพราะเวรนี้ไม่สามารถระงับได้ด้วยการจองเวร
จากนั้นพระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบทพระคาถาที่ 3
และที่ 4 นี้
อกฺโกจฺฉิ มํ
อวธิ มํ
อชินิ มํ
อหาสิ เม
เย จ
ตํ อุปนยฺหนฺติ
เวรํ
เตสํ น สัมมติฯ
ชนเหล่าใด ผูกใจเจ็บว่า
มันด่าเรา มันทุบตีเรา
มันชนะเรา
มันขโมยของเรา
เวรของพวกเขา ไม่มีวันระงับได้.
อกฺโกจฉิ มํ อวธิ มํ
อชินิ
มํ อหาสิ เม
เย จ
ตํ นูปนยฺหนฺติ
เวรํ
เตสูปสมฺมติฯ
ชนเหล่าใด ไม่ผูกใจเจ็บว่า
มันด่าเรา มันทุบตีเรา
มันชนะเรา
มันขโมยของเรา
เวรของพวกเขา ย่อมมีวันระงับได้.
เมื่อจบพระธรรมเทศนา ภิกษุ 100,000
รูปได้บรรลุพระโสดาปัตติผล พระธรรมเทศนาได้มีประโยชน์แก่มหาชน
แม้พระติสสเถระที่ว่ายากสอนยากก็ได้กลายเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่ายแล้ว.
--------------------------------------------------------------------------------
04 เรื่องนางกาลียักษิณี
เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ที่พระเชตวัน
กรุงสาวัตถี
ทรงปรารภหญิงที่เป็นหมันผู้หนึ่งกับหญิงคู่แข่งของนาง ตรัสพระธรรมบท
พระคาถาที่ 5 นี้
ครั้งหนึ่งมีคฤหบดีผู้หนึ่งมีภรรยาเป็นหมัน ต่อมาเขาได้นำหญิงอีกคนหนึ่งมาเป็นภรรยา เหตุการณ์โกลาหลเกิดขึ้นเมื่อภรรยาคนอายุมากนำยาแท้งลูกมาให้ภรรยาคนอายุน้อยกิน
จนกระทั่งภรรยาอายุน้อยตกเลือดเสียชีวิตไปในที่สุด ในชาติต่อมา
หญิงทั้งสองคนนี้ก็ตามล้างตามผลาญกันอีก โดยหญิงคนหนึ่งเกิดเป็นไก่ ส่วนหญิงอีกคนหนึ่งเกิดเป็นแมว อีกชาติต่อมาเมื่อหญิงคนหนึ่งเกิดเป็นเนื้อสมัน
หญิงอีกคนหนึ่งเกิดเป็นนางเสือดาว
และในที่สุดคนหนึ่งมาเกิดเป็นธิดาของเศรษฐีในกรุงสาวัตถี
ส่วนอีกคนหนึ่งมาเกิดเป็นทางยักษิณี
นางยักษิณีตนนี้มีชื่อว่านางกาลียักษิณี
ได้ไล่ติดตามหญิงบุตรสาวของเศรษฐีที่อุ้มบุตรอยู่ในวงแขน เมื่อนางผู้ถูกไล่ติดตามนี้ทราบว่าพระศาสดาประทับอยู่กำลังทรงแสดงธรรมอยู่ที่วัดพระเชตวัน
จึงวิ่งหนีไปทางนั้นแล้วนำบุตรที่อุ้มมาไปวางลงที่เบื้องบาทของพระศาสดา
นางกาลียักษิณีถูกเทวดาผู้รักษาประตูพระเชตวันสกัดไว้ที่ประตูมาไม่ยอมให้เข้าไป แต่ต่อมาพระศาสดาได้อนุญาตให้นางเข้าไปได้
และทั้งสองคนคือหญิงที่เป็นมนุษย์กับหญิงที่เป็นยักษ์ก็ได้รับการอบรมสั่งสอนจากพระศาสดา
โดยพระศาสดาได้ตรัสเล่าเรื่องที่ทั้งสองเคยล้างผลาญกันมาในในอดีตชาติ
ตั้งแต่เมื่อครั้งเป็นภรรยาของสามีคนเดียวกัน เป็นแมวและเป็นแม่ไก่
เป็นเนื้อสมันและเป็นนางเสือดาว
หญิงทั้งสองถูกอบรมสั่งสอนให้เห็นว่าเวรมีแต่จะก่อเวร
เวรจะระงับได้ด้วยมิตรภาพ
การเข้าใจและไมตรีเท่านั้น
จากนั้นพระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 5
นี้
น หิ เวเรน เวรานิ
สมฺมนฺตีธ กุทาจนํ
อเวเรน จ สมฺมนฺติ
เอส ธมฺโม สนนฺตโนฯ
แต่ไหนแต่ไรมา ในโลกนี้
เวรไม่มีวันระงับด้วยการจองเวร
แต่ระงับได้ด้วยการไม่จองเวร
ข้อนี้เป็นสนาตนธรรม.
เมื่อเทศนาจบลง นางยักษิณีได้บรรลุพระโสดาบัน และพระธรรมเทศนาได้มีประโยชน์มากแก่บริษัทที่มาประขุมกัน.
--------------------------------------------------------------------------------
05 เรื่องภิกษุชาวเมืองโกสัมพี
เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ที่วัดพระเขตวัน ในกรุงสาวัตถี
ทรงปรารภภิกษุชาวเมืองโกสัมพี
ตรัสพระธรรมบทพระคาถาที่ 6 นี้
พวกภิกษุชาวเมืองโกสัมพีเกิดผิดใจกันแตกแยกออกเป็น
2 กลุ่ม
กลุ่มหนึ่งปฏิบัติตามคำสั่งสอนของอาจารย์ที่เชี่ยวชาญทางวินัยของพวกตน
ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งก็ปฏิบัติอาจารย์ที่เชี่ยวชาญทางด้านธรรมะของพวกตน และได้มีปากมีเสียงทะเลาะกันอยู่เสมอๆ
แม้ว่าพระศาสดาจะห้ามปรามมิให้ทะเลาะกันอย่างไรก็ไม่ยอมหยุด
จนพระศาสดาเอือมระอาเสด็จหนีไปจำพรรษาอยู่ที่รักขิตวันป่าปาลิเลยยกะ โดยมีช้างปาลิเลยยะคอยอุปัฏฐาก
ชาวเมืองโกสัมพีเมื่อทราบสาเหตุที่ทำให้พระศาสดาต้องเสด็จไปเช่นนั้นก็พากันไม่ใส่บาตรถวายทานแก่พวกภิกษุที่ยังเหลืออยู่ทั้งหมด
ข้อนี้ทำให้พวกภิกษุทั้งหลายตระหนักถึงความผิดของพวกตนและเริ่มเกิดความสามัคคีปรองดองระหว่างกัน แต่พวกชาวบ้านก็ยังไม่ยอมปฏิบัติต่อภิกษุเหล่านั้นด้วยความเคารพเหมือนเดิม
จะต้องให้ไปขอขมาโทษพระศาสดาเสียก่อน
แต่ว่าช่วงนั้นพระศาสดาเป็นช่วงกลางพรรษาพวกภิกษุจึงไปขอขมาโทษมิได้ ดังนั้นพวกภิกษุจึงอยู่จำพรรษานั้นด้วยความทุกข์ยากลำบากเป็นอย่างยิ่ง
เมื่อออกพรรษาพระอานนท์และภิกษุ 500
รูปได้ไปเฝ้าพระศาสดาและได้กราบทูลบอกคำอัญเชิญของท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐีและอุบาสกอุบาสิกาอื่นๆที่ขอให้พระองค์เสด็จกลับ ต่อมาพระศาสดาก็ได้เสด็จกลับวัดพระเชตวัน
กรุงสาวัตถี พวกภิกษุทั้งหลายได้พร้อมกันไปหมอบลงที่เบื้องพระบาทและขอขมาโทษต่อพระศาสดา พระศาสดาได้ทรงตำหนิภิกษุเหล่านั้นที่ไม่เชื่อฟังพระโอวาทของพระองค์
ได้ตรัสบอกให้พวกภิกษุเหล่านั้นให้จดจำใส่ใจไว้ว่าพวกตนจะต้องตายในวันหนึ่งและเพราะฉะนั้นก็จะต้องหยุดทะเลาะวิวาทกันและจะต้องไม่ทำเหมือนกับว่าพวกตนจะไม่ตาย
จากนั้นพระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบทพระคาถาที่ 6
นี้ว่า
ปเร จ น วิชานนฺติ
มยเมตฺถ ยมามเส
เย จ ตตฺถ วิชานนฺติ
ตโต สมฺมนฺติ เมธคาฯ
คนเหล่าอื่นมักไม่รู้ว่าพวกเรากำลังฉิบหาย
เพราะการวิวาทกัน
ส่วนผู้ที่รู้ในข้อนี้
จะไม่ทะเลาะวิวาทกัน.
เมื่อจบพระธรรมเทศนา พระภิกษุที่มาประชุมกันทั้งหมดได้บรรลุพระโสดาปัตติผลเป็นต้น.
--------------------------------------------------------------------------------
06 เรื่องจุลลกาลและมหากาลเถระ
เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ที่ใกล้เมืองตัพยะ
ทรงปรารภมหากาลและจุลกาลซึ่งเป็นพี่น้องกันที่อยู่เมืองเสตัพยะ
ตรัสพระธรรมบทพระคาถาที่ 7 และที่ 8
ครั้งหนึ่งทั้งมหากาลและจุลกาลเมื่อเดินทางไปค้าขายได้มีโอกาสฟังพระธรรมเทศนาจากพระศาสดา หลังจากสดับพระสัทธรรมเทศนาแล้ว
ฝ่ายมหากาลได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบทจากพระศาสดา
ส่วนจุลกาลก็ได้บรรพชาอุปสมบทเหมือนกัน
แต่เป็นการบวชเพียงเพื่อจะสึกแล้วชวนให้พี่ชายสึกตามไปด้วยเท่านั้นเอง
มหากาลมีความตั้งใจในการปฏิบัติสมณธรรมมาก ได้ไปฏิบัติธรรมอยู่ในป่าช้าตามแบบ
โสสาสนิกธุดงค์ และพิจารณาถึงความไม่เที่ยง
เป็นทุกข์และเป็นอัตตา จนในที่สุดได้บรรลุความรู้แจ้งเห็นจริงได้เป็นพระอรหันต์
ต่อมาพระศาสดาและสาวกทั้งหลายรวมทั้งภิกษุมหากาลและจุลกาลนี้ด้วย
ได้เข้าไปอยู่ในป่าสิงสปะใกล้เมืองเสตัพยะ
ในช่วงนั้นเองพวกอดีตภรรยาของพระจุลกาลได้อาราธนาพระศาสดาพร้อมด้วยภิกษุสาวกทั้งหลายไปที่บ้านของพวกตน
พระจุลกาลได้เดินทางล่วงหน้าไปที่บ้านภรรยาเพื่อตระเตรียมปูอาสนะที่ประทับสำหรับพระศาสดาและสาวกทั้งหลาย พอพระจุลกาลเดินทางไปถึงที่บ้านพวกภรรยาก็ได้บังคับให้พระจุลกาลสึกโดยเปลี่ยนชุดแต่งกายจากผ้ากาสาวพัสตร์มาเป็นชุดคฤหัสถ์
ในวันรุ่งขึ้น
พวกอดีตภรรยาของพระมหากาลได้อาราธนาพระศาสดาและพระสงฆ์สาวกไปที่บ้านของพวกตนบ้าง
โดยมีวัตถุประสงค์จะทำการสึกพระมหากาลอย่างเดียวกับที่ภรรยาของอดีตพระจุลกาลเคยทำกับพระจุลกาล หลังจากเสร็จสิ้นถวายภัตตาหาร พวกอดีตภรรยาของพระมหากาลได้ทูลพระศาสดาขอให้พระมหากาลอยู่ก่อนเพื่อจะได้
“กล่าวอนุโมทนา” ดังนั้นพระศาสดาและพระสงฆ์สาวกทั้งหลายจึงได้กลับคืนสู่วิหาร
หลังจากที่เดินทางมาถึงประตูหมู่บ้านพวกภิกษุทั้งหลายได้แสดงความไม่พอใจและหวาดวิตก
ที่พวกภิกษุเหล่านี้ไม่พอใจเพราะพระมหากาลได้รับพุทธานุญาตให้อยู่ที่บ้านอดีตภรรยาแต่โดยลำพัง
ซึ่งเป็นที่น่าหวาดกลัวว่าจะเป็นเหมือนกรณีที่เกิดขึ้นกับพระจุลกาลพระน้องชาย
คือจะถูกอดีตภรรยาจับสึกนั่นเอง
พระศาสดาตรัสว่าพระสองพี่น้องนี้ไม่เหมือนกัน คือ พระจุลกาลหมกมุ่นในกามคุณ
มีความเกียจคร้านและอ่อนแอ ราวกับต้นไม้ที่ไม่แข็งแรง
ตรงกันข้ามมหากาลมีความบากบั่นขยันหมั่นเพียรมีจิตในเด็ดเดี่ยวและมีศรัทธาอย่างแรงกล้าในพระพุทธเจ้า
พระธรรม และพระสงฆ์
มีลักษะเหมือนเหมือนภูเขาศิลาล้วน
จากนั้นพระศาสดาตรัสพระธรรมบทพระคาถาที่ 7
และที่ 8 ดังนี้
สุภานุปสฺสึ
วิหรนฺตํ
อินฺทฺริสุ อสํวุตํ
โภชนมฺหิ อมตฺตญญุ
กุสีตํ หีนวีริยํ
ตํ เว ปสหตี มาโร
วาโต รุกขํ ว ทุพพลํฯ
ผู้ตกเป็นทาสของความสวยงาม
ไม่ควบคุมอินทรีย์ทั้งหลาย
ไม่รู้จักประมาณในโภชนาหาร
เกียจคร้าน ขาดความบากบั่น
มารย่อมกำจัดเขาได้
เหมือนลมพัดพาต้นไม้ที่ไม่แข็งแรงได้ฉะนั้นฯ
อสุภานุปสฺสึ
วิหรนฺตํ
อินฺทฺริสุ สุสํวุตํ
โภชนมฺหิ มตฺตญญุ
สทฺธํ อารทฺธวีริยํ
ตํ เว นปฺปสหตี มาโร
วาโต เสสํว ปพฺพตํฯ
ผู้ไม่ตกเป็นทาสของความสวยงาม
ควบคุมอินทรีย์ทั้งหลายได้
รู้จักประมาณในโภชนาหาร
มีศรัทธา ขยันหมั่นเพียร
มารย่อมกำจัดเขาไม่ได้
เหมือนลมพัดพาภูเขาศิลาล้วนไม่ได้ฉะนั้นฯ
ในขณะพวกอดีตภรรยาของพระมหากาลกำลังจะมาช่วยกันเปลื้องสบงจีวรออกจากร่างของพระมหากาลอยู่นั้นเอง พระเถระรู้ทันในวัตถุประสงค์ของอดีตภรรยา จึงได้รีบลุกขึ้นยืนแล้วเหาะทะยานทะลุทะลวงผ่านหลังคาบ้านขึ้นสู่อากาศด้วยกำลังแห่งฤทธิ์
แล้วเหาะไปลงที่แทบพระบาทของพระศาสดาในช่วงพอดีกับที่พระศาสดาตรัสพระธรรมบททั้ง
2 พระคาถาข้างต้นจบลง ในขณะเดียวกันนั้น
พระภิกษุสงฆ์ที่มาประชุมกันอยู่นั้นก็ได้บรรลุพระโสดาปัตติผล.
--------------------------------------------------------------------------------
07 เรื่องพระเทวทัต
เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ที่วัดพระเชตวัน
กรุงสาวัตถี ทรงปรารภพระเทวทัต
ตรัสพระธรรมบทพระคาถาที่ 9 และ ที่ 10
นี้
ครั้งหนึ่งพระอัครสวกทั้งสอง คือ
พระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะเดินทางจากกรุงสาวัตถึไปที่กรุงราชคฤห์ ณ ที่นั้นประชาชนชาวกรุงราชคฤห์ได้นิมนต์พระอัครสาวกทั้งสองและพระภิกษุบริวารของท่านจำนวนหนึ่งพันรูปไปฉันภัตตาหารเช้า
ในโอกาสนี้เองมีอุบาสกคนหนึ่งถวายผ้ามีมูลค่าหนึ่งแสนกหาปณะให้แก่พวกคนที่ดำเนินการในพิธีถวายภัตตาหารในครั้งนี้ โดยแนะนำพวกเขาว่าควรจะนำผ้านี้ขายแล้วเอาเงินที่ได้จากการขายผ้านี้ไปเป็นค่าใช้จ่าย
แต่ถ้าหากไม่ขาดแคนเงินก็ให้นำผ้าผืนนี้ถวายพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งตามแต่จะเห็นสมควร
การณ์ปรากฏว่าไม่มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนเงินและจะต้องนำผ้าไปถวายแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เนื่องจากว่าพระอัครสาวกทั้งสองไปที่กรุงราชคฤห์เป็นครั้งคราว
ส่วนพระเทวทัตเป็นพระที่อยู่เมืองนี้เป็นประจำ
ชาวเมืองจึงถวายผ้าผืนนี้แก่พระเทวทัต
พระเทวทัตรีบนำผ้ามีมูลค่ามากนั้นมาทำเป็นจีวรห่มในทันที
เมื่อพระภิกษุรูปหนึ่งเดินทางจากกรุงราชคฤห์มาที่กรุงสาวัตถีเพื่อเฝ้าพระศาสดา
และได้กราบทูลเรื่องนี้ให้ทรงทราบ
พระศาสดาตรัสว่า มิใช่ครั้งแรกที่พระเทวทัตห่มจีวรที่ตนไม่สมควรจะห่ม
และพระศาสดาได้นำเรื่องอดีตมาแสดงว่า
พระเทวทัตเป็นพรานล่าช้างในอดีตชาติหนึ่ง
ครั้งนั้นมีช้างจำนวนมากอาศัยอยู่ในป่าแห่งหนึ่ง
วันหนึ่งนายพรานนั้นสังเกตเห็นพวกช้างคุกเข่าทำความเคารพพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายที่พวกตนพบเห็น
เมื่อสังเกตเห็นเช่นนี้แล้วนายพรานล่าช้างนั้นก็ได้ไปขโมยจีวรสีเหลืองของพระปัจเจกพุทธเจ้ามาคลุมกายของตนเอง
จากนั้นก็ได้ถือหอกไปคอยพวกช้างอยู่ในเส้นทางสัญจรปกติของพวกช้าง เมื่อพวกช้างมาถึงเห็นนายพรานเข้าใจผิดคิดว่าเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าก็คุกเข่าลงทำความเคารพเช่นเคย
นายพรานช้างก็ได้ถือโอกาสใช้หอกซัดฆ่าช้างตัวที่อยู่ท้ายสุด
และได้กระทำเช่นนี้เรื่อยมาเป็นเวลาหลายวัน
พระโพธิสัตว์เป็นพระยาช้างโขลงนั้น
สังเกตเห็นว่าช้างบริวารลดจำนวนลงจึงได้ตัดสินใจหาสาเหตุโดยให้ช้างบริวารเดินนำหน้าส่วนพระยาช้างเองเดินตามหลัง พระโพธิสัตว์คอยระวังอยู่ตลอดเวลา เมื่อนายพรานพุ่งหอกมาก็สามารถหลบหลีกได้ทัน
แล้ววิ่งไปใช้งวงรวบนายพรานช้างกำลังจะฟาดตัวลงที่พื้นดิน แต่เผอิญมองเห็นผ้ากาสาวพัสตร์ที่นายพรานช้างนำมาใช้คลุมกายไว้
จึงยับยั้งใจไว้ชีวิตแก่นายพรานช้าง
นายพรานถูกตำหนิที่พยายามฆ่าผู้อื่นโดยใช้ผ้ากาสาวพัสตร์มาคลุมกาย
และกระทำในสิ่งชั่วช้าเช่นนี้
นายพรานไม่ควรที่จะนำผ้ากาสาวพัสตร์ที่เป็นเครื่องนุ่งห่มของผู้หมดกิเลสมานุ่งห่ม
จากนั้นพระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบทพระคาถาที่ 9
และที่ 10 ว่า
อนิกฺสาโว กาสาวํ
โย วตฺถํ
ปริทเหสฺสติ
อเปโต ทมสจฺเจน
น โส กาสาวมหรติฯ
คนกิเลสหนา ปราศจากการบังคับตัวเอง
ไร้สัจจะ ไม่ควรนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์.
โย จ วนฺตกสาวสฺส
สีเลน สุสมาหิโต
อุเปโต ทมสจฺเจน
ส เว กาสาวมหรติฯ
คนหมดกิเลส มั่นคงในศีล
มีสัจจะ ควรนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์
เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง ภิกษุผู้อยู่ในทิศต่างๆเบรรลุเป็นพระโสดาบัน ภิกษุเหล่าอื่นบรรลุโสดาปัตติผลเป็นต้น
พระธรรมเทศนามีประโยชน์แก่มหาชน.
--------------------------------------------------------------------------------
08 เรื่องพระสารีบุตรเถระ
เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ที่วัดพระเขตวัน ในกรุงสาวัตถี
ทรงปรารภอุปติสสะและโกลิตะ ตรัสพระธรรมบทพระคาถาที่ 11
และพระคาถาที่ 12 นี้
อุปติสสะและโกลิตะเป็นชายหนุ่มจากหมู่บ้านอุปติสสะและหมู่บ้านโกลิตะซึ่งอยู่ไม่ไกลจากกรุงราชคฤห์ ทั้งสองคนไปชมมหรสพอยู่บนยอดภูเขาแล้วเกิดความตระหนักถึงความไม่เที่ยงของทุกสิ่งทุกอย่างจึงได้ตัดสินใจแสวงหาความหลุดพ้น
ในเบื้องแรกทั้งสองคนได้เข้าไปเป็นศิษย์ของอาจารย์สญชัยซึ่งเป็นปริพาชกในกรุงราชคฤห์
แต่ไม่สมใจในคำสอนของสญชัย
จึงได้ออกเดินทางตระเวนไปทั่วชมพูทวีป(อินเดีย)แล้วกลับมาที่กรุงราชคฤห์ดังเดิม
หลังจากตระเวนหาแล้วไม่พบธรรมะอย่างแท้จริง
ทั้งสองจึงได้ทำความตกลงกันว่าหากคนใดคนหนึ่งได้ไปพบธรรมะที่แท้จริงก็จะต้องบอกแก่กันและกัน
อยู่มาวันหนึ่งอุปติสสะไปพบพระอัสสชิเถระและได้เรียนรู้จากท่านถึงแก่นแท้ของธรรมะ
ซึ่งพระอัสสะได้กล่าวเป็นพระคาถาว่า “เย
ธมฺมา เหตุปพฺภวา เตสํ เหตุ ตถาคโต อาห เตสญฺจ โย นิโรโธ จ เอวํ วาที
มหาสมโณ” ซึ่งแปลความได้ว่า สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นแต่เหตุ
พระตถาคตตรัสเหตุแห่งสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น และความดับไปแห่งเหตุทั้งหลายเหล่านั้
พระมหาสมณะมีปกติกล่าวอย่างนี้” เมื่อได้ฟังพระคาถานี้แล้วอุปติสสะก็ได้บรรลุพระโสดาปัตติผล
จากนั้นก็ได้ทำคำที่ให้สัญญากันไว้กับโกลิตะ
คือได้ไปบอกกับสหายผู้นี้ว่าตนได้บรรลุถึงความไม่ตายแล้วได้นำพระคาถานั้นมาว่าให้โกลิตะฟัง
โกลิตะได้ฟังแล้วก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันอีกเช่นกัน ทั้งสองคนรำลึกถึงอาจารย์สญชัยจึงชวนกันไปพบและเรียนท่านว่า
“พวกเราได้พบบุคคลที่จะชี้แนะหนทางแห่งความไม่ตายแล้ว
บัดนี้พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นมาแล้วในโลก พระธรรมก็เกิดขึ้นมาแล้ว
พระสงฆ์ก็เกิดขึ้นมาแล้ว..มาเถิดจงไปพบกับอาจารย์ท่านนั้นกัน” คนทั้งสองวาดหวังไว้ว่าอดีตอาจารย์ของตนผู้นี้จะตามไปพบกับพระพุทธเจ้าและเมื่อได้ฟังธรรมแล้วก็จะได้บรรลุมรรคผล
แต่ท่านสญชัยปฏิเสธไม่ยอมตามไปด้วย
ดังนั้นอุปติสสะและโกลิตะพร้อมด้วยบริวารจำนวน
๒๕๐ คน จึงได้ไปเฝ้าพระพุทธจ้าที่วัดเวฬุวัน
และทั้งสองคนก็ได้บรรพชาอุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา อุปติสสะในฐานะเป็นบุตรของนางรูปสารีจึงมีชื่อว่า
พระสารีบุตรเถระ ส่วนโกลิตะเป็นบุตรของนางโมคคัลลีจึงมีชื่อว่า มหาโมคคัลลานะ ในวันที่ 7
หลังจากบวชพระโมคคัลลานะก็ได้บรรลุอรหัตตผล
ส่วนพระสารีบุตรได้บรรลุพระอรหัตตผลหลังจากอุปสมบทได้ 15
วัน ในวันนั้นเองพระพุทธเจ้าได้สถาปนาท่านทั้งสองไว้ในตำแหน่งอัครสาวกขวาซ้ายคือ
พระสารีบุตรเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา พระโมคคัลลานะเป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย
จากนั้นพระอัครสาวกทั้งสองได้กราบทูลพระศาสดาเรื่องที่ท่านขึ้นไปชมมหรสพบนภูเขา
ไปพบกับพระอัสสชิ และได้บรรลุพระโสดาปัตติผล
หลังจากนั้นก็ได้ไปชวนอดีตอาจารย์สญชัยโดยกะว่าจะให้เดินทางมาพร้อมกับพวกตน
แต่สญชัยได้กล่าวว่า “เราเป็นอาจารย์มีลูฏศิษยลูกหามากมาย
จะให้เรามาเป็นศิษย์คนอื่นนั้นก็จะเหมือนกับการเปลี่ยนตุ่มน้ำให้เป็นถ้วยน้ำชา”
นอกจากนั้นแล้วท่านก็ยังบอกด้วยว่า คนที่ฉลาดมีน้อย
ส่วนพวกคนโง่มีมาก ก็ให้พวกคนฉลาดไปหาพระสมณโคดมผู้ฉลาด ส่วนพวกคนโง่ก็จะมาหาเราผู้เป็นคนโง่ พวกท่านทั้งสองจงไปตามทางของพวกท่านเถิด”
ดังนั้น พระศาสดาทรงชี้ว่า
เพราะทิฐินั้นเองทำให้ท่านสญชัยต้องพลาดจากการได้เห็นธรรมว่าเป็นธรรม
เมื่อสญชัยยังเห็นอธรรมว่าเป็นธรรมก็จะยังไม่สามารถบรรลุถึงธรรมที่แท้จริงได้
จากนั้นพระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบทพระคาถาที่ 11
และพระคาถาที่ 12 ว่าดังนี้
อสาเร สารมติโน
สาเร จ อสารทสฺสิโน
เต สารํ นาธิคจฺฉติ
มิจฺฉาสงฺกปฺปโคจราฯ
ผู้ใดเห็นสิ่งที่ไม่เป็นสาระว่าเป็นสาระ
เห็นสิ่งที่เป็นสาระว่าไร้สาระ
เขามีความคิดผิดเสียแล้ว
ย่อมไม่ประสบสิ่งที่เป็นสาระ.
สารญฺจ
สารโต ญตฺวา
อสารญฺจ อสารโต
เต สารํ อธิคจฺฉติ
สมฺมาสงฺกปฺปโคจราฯ
ผู้เข้าใจสิ่งที่เป็นสาระว่าเป็นสาระ
เห็นสิ่งที่ไร้สาระว่าไร้สาระ
มีความคิดเห็นชอบ
ย่อมประสบสิ่งที่เป็นสาระ
เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง คนเป็นจำนวนมากได้บรรลุพระโสดาปัตติผลเป็นต้น พระธรรมเทศนามีประโยชน์แก่ผู้ที่มาประชุมกัน.
--------------------------------------------------------------------------------
09 เรื่องพระนันทเถระ
เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ที่วัดพระเชตวันในกรุงสาวัตถี
ทรงปรารภพระนันทเถระพระญาติของพระศาสดา ตรัสพระธรรมบทพระคาถาที่ 13
และพระคาถาที่ 14 นี้
ครั้งหนึ่งเมื่อพระศาสดาประทับที่วัดพระเวฬุวันในกรุงราชคฤห์
พระเจ้าสุทโธทนะพระราชบิดาได้ส่งทูตหลายคณะมาทูลเชิญพระศาสดาเสด็จไปกรุงกบิลพัสดุ์
ในที่สุดพระพุทธองค์จึงได้เสด็จไปพร้อมด้วยพระอรหันต์จำนวน 20000
รูป
ในวันแรกที่เสด็จถึงกรุงกบิลพัสดุ์พระองค์ได้ตรัสเวสสันดรชาดกให้พระญาติได้ฟัง
ในวันที่ 2
ได้เสด็จเข้าไปในเมืองและได้ตรัสพระคาถาที่เริ่มบาทแรกว่า “อุตฺติฏเฐ
นปฺปมชฺเชยฺย” ซึ่งแปลว่า “บุคคลพึงขยัน
ไม่พึงประมาท” ซึ่งเมื่อพระราชบิดาทรงสดับแล้วได้บรรลุพระโสดาปัตติผล
และเมื่อเสด็จเข้าไปไปพระราชวังได้ตรัสพระคาถาซึ่งมีความในบาทแรกว่า “ธมฺมํ
จเร สุจริตํ” ซึ่งแปลว่า “บุคคลพึงประพฤติธรรมที่สุจริต”
ในที่สุดแห่งพระธรรมเทศนาพระราชบิดาได้บรรลุพระสกทาคามิผล
หลังจากเสวยภัตตาหารแล้วได้ตรัสจันทกินนรีชาดกซึ่งเกี่ยวโยงกับคุณธรรมของพระมารดาของราหุล(พระนางยโสธรา
หรือพิมพา)
พอถึงวันที่ 3
ได้มีพิธีอภิเษกสมรสของเจ้าชายนันทะพระพุทธอนุชา(พระโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะกับพระนางปชาบดีโคตรมี
พระน้านาง)
พระศาสดาได้เสด็จไปฉันภัตตาหารในพิธีและพอเสด็จกลับก็ได้ทรงส่งบาตรให้เจ้าชายนันทะ แล้วไม่ยอมรับบาตรรคืน
เจ้าชายนันทะถือบาตรตามเสด็จพระศาสดาไป
ข้างฝ่ายเจ้าสาวคือเจ้าหญิงชนปทกัลยาณีเมื่อเห็นเจ้าชายนันทะตามเสด็จพระศาสดาไปก็ได้รีบไปร้องตะโกนขอให้เจ้าชายนันทะรีบกลับมา เมื่อเสด็จถึงวัดพระเวฬุวัน เจ้าชายสิทธัตถะก็ได้ผนวชเป็นภิกษุ
พระศาสดาได้เสด็จออกจากวัดพระเวฬุวันไปประทับอยู่ที่วัดพระเชตวันที่อนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างถวาย
ขณะที่พระนันทะพำนักอยู่ที่นี่ก็มีความกระวนกระวายใคร่จะลาเพศบรรพชิตออกไปเป็นคฤหัสถ์
เพราะยังจดจำคำสั่งลาของเจ้าหญิงชนบทกัลยาณีที่ทรงตะโกนสั่งไห้รีบกลับมานั้นอยู่เสมอ
พระศาสดาทรงทราบเรื่องนี้
ก็ได้ทรงใช้อำนาจฤทธิ์พาพระนันทะไปชมนางเทพธิดารูปร่างสะคราญในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ซึ่งมีความสะสวยงดงามกว่าเจ้าหญิงชนบทกัลยาณีมาก
พระศาสดาได้ทรงประทานคำมั่นสัญญากับพระนันทะว่าหากพระนันทะปฏิบัติธรรมอยู่ต่อไปโดยไม่สึกพระองค์จะประทานนางเทพธิดาร่างสะคราญเหล่านั้นแก่พระเจ้าชายนันทะ
พวกภิกษุทั้งหลายพากันเย้ยหยันพระนันทะว่าเหมือนกับถูกจ้างให้ปฏิบัติธรรมเพื่อจะได้หญิงงามเป็นค่าจ้าง
พระนันทะรู้สึกเดือดร้อนและละอายใจมาก จึงได้ปลีกวิเวกไปมุ่งมั่นปฏิบัติธรรมอย่างเอาจริงเอาจังจนกระทั่งได้บรรลุพระอรหัตตผล
เมื่อได้เป็นพระอรหันต์แล้วจิตของท่านก็หลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่นทั้งปวง
และพระศาสดาก็ได้หลุดพ้นจากคำสัญญาที่ได้ประทานแก่เจ้าชายนันทะ ซึ่งเรื่องนี้พระศาสดาทรงหยั่งรู้ด้วยพระญาณพิเศษตั้งแต่แรกแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย ซึ่งแต่เดิมทราบมาว่าพระนันทะมิได้เข้ามาบวชเป็นพระด้วยความเต็มใจ
จึงได้สอบถามความรู้สึกของท่านอีกครั้งหนึ่ง
เมื่อพระนันทะตอบว่าท่านไม่มีความยึดมั่นในชีวิตฆราวาสต่อไปแล้ว
พวกภิกษุก็คิดว่าพระเจ้าชายนันทะพูดไม่จริง จึงได้นำเรื่องนี้ไปทูลพระศาสดา
และในขณะเดียวกันก็ได้แสดงความสงสัยในคำพูดของท่าน พระศาสดาจึงได้ตรัสว่า
เดิมสภาวะจิตของพระนันทะเป็นเหมือนหลังคาบ้านที่มุงไว้ไม่ดี ฝนก็ย่อมรั่วรดลงมาได้
แต่บัดนี้จิตของท่านมีลักษณะเหมือนบ้านที่มุงหลังคาไว้ดีแล้วฝนจึงรั่วรดลงมาไม่ได้
จากนั้นพระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบทพระคาถาที่ 13
และพระคาถาที่ 14 นี้
ยถา อคารํ ทุจฉนฺนํ
วุฏฺฐิ สมติวิชฺฌติ
เอวํ อภาวิตํ จิตฺตํ
ราโค สมติวิชฺฌติฯ
บ้านที่มุงไม่ดี
ฝนย่อมราวรดเข้าได้ ฉันใด
จิตที่ไม่ได้อบรม
ราคะย่อมรั่วเข้าไปครอบงำได้ ฉันนั้น.
ยถา อคารํ สุจฺฉนฺนํ
วุฏฺฐิ
น สมติวิชฌติ
เอวํ สุภาวิตํ จิตฺตํ
ราโค น สมติวิชฺฌติฯ
บ้านที่มุงดี
ฝนย่อมรั่วรดเข้าไม่ได้ ฉันใด
จิตที่อบรมดีแล้ว
ราคะย่อมรั่วเข้าไปครอบงำไม่ได้ ฉันนั้น
เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมากได้บรรลุพระโสดาปัตติผลเป็นต้น พระธรรมเทศนามีประโยชน์แก่ผู้ที่มาประชุมกัน
--------------------------------------------------------------------------------
10 เรื่องจุนทสูกริกะ
เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ที่พระเวฬุวันในกรุงราชคฤห์ ได้ตรัสพระธรรมบทพระคาถาที่ 15
โดยปรารภนายจุนทะคนชำแหละสุกร
ครั้งหนึ่งในหมู่บ้านแห่งหนึ่งไม่ไกลจากวัดพระเวฬุวัน
มีชายชำแหละเนื้อสุกรผู้หนึ่งมีจิตใจโหดร้ายทารุณมาก ชื่อว่านายจุนทะ
นายจุนทะคนนี้เป็นผู้ชำแหละสุกรมาเป็นเวลานานถึง 55
ปี เขาไม่เคยทำบุญให้ทานแม้แต่ครั้งเดียว
ก่อนจะตายนายจุนทะมีความเจ็บปวดทุรนทุรายลงคลานส่งเสียงร้องเหมือนเสียงสุกรอยู่เป็นเวลานานถึงเจ็ดวัน เป็นความทุกข์ก่อนตายที่มีลักษณะคล้ายกับตกนรก
พอถึงวันที่ 7
นายจุนทะก็สิ้นชีวิตและได้ไปเกิดในนรกขุมอเวจี
ดังนั้นคนที่ทำชั่วก็มักจะต้องเดือดร้อนเพราะกรรมชั่วที่ตนเองทำไว้
เขาจะเดือดร้อนทั้งในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ในโลกนี้และเมื่อตายไปในโลกหน้า
เกี่ยวกับเรื่องนี้พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท
พระคาถาที่ 15
นี้ว่า
อิธ โสจติ เปจฺจ โสจติ
ปาปการี อุภยตฺถ โสจติ
โส โสจติ โส วิหญฺญติ
ทิสวา กมฺมกิลิฏฺฐมตฺตโนฯ
คนทำชั่วย่อมเศร้าโศกในโลกทั้งสอง
คือ เศร้าโสกในโลกนี้ และเศร้าโศกในโลกหน้า
เขาย่อมเศร้าโศก ย่อมเดือดร้อน
เพราะมองเห็นกรรมชั่วของตนเอง.
เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมากได้บรรลุโสดาปัตติผลเป็นต้น
พระธรรมเทศนามีผลมากแก่มหาชน
--------------------------------------------------------------------------------
11 เรื่องธัมมิกอุบาสก
เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ที่วัดพระเชตวันในกรุงสาวัตถี ได้ตรัสพระธรรมบทพระคาถาที่ 16
โดยปรารภอุบาสกชื่อธรรมิกะ
ครั้งหนึ่งในกรุงสาวัตถีมีอุบาสกคนหนึ่งชื่อธรรมิกะ
เป็นผู้ใจบุญใจกุศลชอบทำบุญให้ทาน
เขาจะถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์อย่างสม่ำเสมอทุกวัน และในโอกาสสำคัญต่างๆ เขาเป็นหัวหน้าของอุบาสกอีกจำนวน 500
คนซึ่งอยู่ในนครสาวัตถีนี้ เขามีบุตร 7 คน
และธิดา 7 คน
และบุตรธิดาทุกคนก็เหมือนกับบิดาคือเป็นผู้มีใจบุญใจกุศลชอบถวายทาน อยู่มาวันหนึ่งธรรมิกอุบาสกเกิดป่วยหนักมีอาการใกล้จะตาย
เขาได้ขอร้องบุตรธิดาให้ส่งคนไปนิมนต์พระสงฆ์มาสวดพระสูตรศักดิ์สิทธิ์ขณะที่เขานอนอยู่บนเตียงขณะใกล้จะตาย ขณะที่พระภิกษุสงฆ์กำลังสวดมหาสติปัฏฐานสูตรอยู่นั้น ก็มีรถที่ประดับตกแต่งงดงามมากจำนวน 6
คันจากสวรรค์ชั้นต่างๆมาจอดรอเขาเพื่อเชิญให้เขาไปอยู่ในสวรรค์ในชั้นต่างๆ
ธรรมิกอุบาสกได้บอกรถเหล่านั้นให้รอก่อนสักครู่อย่าได้เพิ่งมาเพราะจะรบกวนขัดจังหวะการสวดพระสติปัฏฐานสูตรของพระภิกษุสงฆ์ ข้างพระภิกษุสงฆ์ที่สวดอยู่นั้นเข้าใจว่าธรรมิกอุบาสกต้องการให้พวกท่านหยุดสวดจึงได้เลิกสวดและเดินทางกลับวัด
ชั่วครู่ต่อมาธรรมิกอุบาสกก็ได้บอกกับบวกบุตรธิดาของตนว่ามีรถทิพย์จำนวน
6 คันมาจอดรอเพื่อรับเขาอยู่
และในที่สุดเขาได้ตัดสินในเลือกรถที่ส่งมาจากสวรรค์ดุสิต
และได้บอกให้ลูกคนหนึ่งโยนพวงมาลัยไปคล้องรถคันที่มาจากสวรรค์ชั้นดุสิตนั้น พอธรรมิกอุบาสกสิ้นใจตายก็ได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิตนั้นจริงๆ
เพราะฉะนั้น คนที่ทำความดีย่อมจะบันเทิงในโลกนี้และในโลกนี้
ต่อมาพระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบทพระคาถาที่ 16
นี้ว่า
อิธ โมทติ เปจฺจ โมทติ
กตปุญฺโญ อุภยตฺถ โมทติ
โส โมทติ โส ปโมทติ
ทิสฺวา กมฺมวิสุทฺธิมตฺตโนฯ
คนทำบุญกุศลไว้แล้ว ย่อมบันเทิงในโลกทั้งสอง
คือบันเทิงในโลกนี้
ล่วงลับไปแล้วก็ไปบันเทิงในโลกหน้า
เขาย่อมร่าเริง บันเทิงใจ
เพราะมองเห็นกรรมบริสุทธิ์ของตนเอง.
ชนเป็นอันมากได้บรรลุโสดาปัตติผลเป็นต้น
พระธรรมเทศนามีประโยชน์แก่มหาชน.
--------------------------------------------------------------------------------
12 เรื่องพระเทวทัต
เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ที่วัดพระเชตวันกรุงสาวัตถี
ได้ตรัสพระธรรมบทพระคาถาที่ 17 โดยปรารภพระเทวทัต
ครั้งหนึ่งพระเทวทัตพำนักอยู่กับพระศาสดาที่กรุงโกสัมพี
ขณะที่พำนักอยู่ ณ
ที่นั้นพระเทวทัตมีความตระหนักว่าพระศาสดาทรงได้รับความเคารพ
ความนับถือและลาภจากประชาชนมาก
จึงมีความริษยาพระศาสดาและมีความปรารถนาอยากเป็นประมุขสงฆ์ วันหนึ่งขณะที่พระศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนาอยู่ที่วัดพระเวฬุวันนครราชคฤห์
ก็ได้เข้าไปเฝ้าพระศาสดาทูลว่าพระองค์ทรงชราภาพแล้วควรจะได้ถ่ายโอนความรับผิดชอบคณะสงฆ์ให้แก่พระเทวทัตเสีย
พระศาสดาทรงปฏิเสธข้อเสนอของพระเทวทัตโดยตรัสว่าพระเทวทัตเป็น “บุคคลกลืนกินน้ำลายของผู้อื่น”
ต่อมาพระศาสดาได้ทรงขอให้พระสงฆ์ดำเนินการ “ประกาศนียกรรม”
(ทำนองลอยแพไม่คบหาสมาคมด้วย)ต่อพระเทวทัต
พระเทวทัตมีความเดือดร้อนและประกาศว่าจะทำการแก้เผ็ดพระศาสดา ท่านได้พยายามสังหารพระศาสดาถึง 3
ครั้ง โดยครั้งแรกไปว่าจ้างนายขมังธนูให้มาลอบยิง
ครั้งที่สองขึ้นไปกลิ้งหินลงมาจากภูเขาคิชฌกูฏเพื่อจะให้ทับพระศาสดา
และครั้งที่สามปล่อยช้างนาฬาคิรีให้เข้าทำร้าย
ทว่านายขมังธนูไม่สามารถทำร้ายพระศาสดาได้และได้เดินทางกลับไปหลังจากที่ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดาจนได้บรรลุพระโสดาปัตติผลแล้ว
หินที่กลิ้งลงมาจากเขาคิชฌกูฏไม่สามารถทำร้ายพระศาสดาเพียงแต่มีสะเก็ดหินแตกมากระทบแค่ทำให้พระโลหิตห้อเท่านั้น และเมื่อช้างนาฬาคีรีวิ่งมาจะทำร้ายพระศาสดาได้ทรงแผ่เมตตาให้จนช้างนั้นเชื่อง แต่พระเทวทัตก็ยังไม่ละความพยายาม ได้พยายามหาเล่ห์เพทุบายอย่างอื่น
โดยได้พยายามทำลายสงฆ์ด้วยการแยกพระบวชใหม่จำนวนหนึ่งไปอยู่ที่คยาสีสะ
แต่อย่างไรก็ตามในที่สุดพระเหล่านี้ได้ถูกพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะพากลับมาได้สำเร็จ
ต่อมาพระเทวทัตอาพาธหนัก เมื่อท่านอาพาธอยู่ได้ 9
เดือนก็ได้ขอให้สานุศิษย์พาท่านมาเพื่อจะเฝ้าพระศาสดา
พวกศิษย์จึงหามท่านมาขึ้นแคร่ที่วัดพระเชตวัน
เมื่อพระศาสดาได้สดับว่าพระเทวทัตถูกหามมาเฝ้าก็ได้ตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่าพระเทวทัตไม่มีโอกาสที่จะได้เฝ้าพระองค์
เมื่อพระเทวทัตและคณะเดินทางมาถึงที่สระในบริเวณพระเชตวัน พวกศิษย์ที่ทำหน้าหามได้วางแคร่ลงที่ริมสระและได้ลงไปอาบน้ำกันอยู่นั้น
พระเทวทัตได้ลุกขึ้นจากแคร่แล้ววางเท้าลงที่พื้นดิน
พลันเท้าทั้งสองข้างของท่านก็ถูกธรณีสูบจมหายลงไปในแผ่นดิน ที่พระเทวทัตไม่มีโอกาสได้เฝ้าพระศาสดาก็เพราะกรรมชั่วที่ท่านได้กระทำต่อพระศาสดา หลังจากถูกธรณีสูบแล้วพระเทวทัตได้ไปเกิดในนรกขุมอเวจี
อันเป็นนรกที่ถูกทรมานอย่างโหดร้ายรุนแรงอย่างต่อเนื่อง
จากนั้นพระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบทพระคาถาที่ 17
ว่า
อิธ ตปฺปติ เปจจ ตปฺปติ
ปาปการี อุภยตฺถ ตปฺปติ
ปาปํ เม กตนฺติ ตปฺปติ
ภิยฺโย ตปฺปติ ทุคฺคตึ คโตฯ
คนทำบาปย่อมเดือดร้อนในโลกทั้งสอง
คือย่อมเดือดร้อนในโลกนี้
ละจากโลกนี้ไปแล้ว ย่อมเดือดร้อนในโลกหน้า
เขาเดือดร้อนในขณะมีชีวิตว่าเราทำบาปไว้แล้ว
เมื่อไปสู่ทุคคติก็ย่อมเดือดร้อนยิ่งขึ้นอีก.
ชนเป็นอันมากบรรลุโสดาปัตติผลเป็นต้น
พระธรรมเทศนาได้มีประโยชน์แก่มหาชน.
--------------------------------------------------------------------------------
13
เรื่องสุมนาเทวี
เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ที่พระเชตวันกรุงสาวัตถี ได้ตรัสพระธรรมบทพระคาถาที่ 18 โดยปรารภนางสุมนาเทวี
ธิดาคนเล็กของอนาถบิณฑิกเศรษฐี
ในกรุงสาวัตถี
ที่บ้านของท่านอนาถบิณฑอกเศรษฐีและที่บ้านของนางวิสาขาจะมีพระสงฆ์ได้รับนิมนต์ไปฉันภัตตาหารวันละ
2000 รูปมิได้ขาด
ที่บ้านของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี
คนที่ทำหน้าที่ควบคุมงานถวายภัตตาหารพระสงฆ์คนแรกได้แก่ธิดาคนโตของท่านเศรษษฐี ต่อมาเมื่อธิดาคนโตออกเรือนแล้วก็ให้ธิดาคนรองรับผิดชอบ
พอธิดาคนรองออกเรือนก็ให้ธิดาคนสุดท้องคือนางสุมนาเทวีรับผิดชอบ
พี่สาวทั้งสองคนของนางสุมนาได้ฟังพระธรรมเทศนาจนได้บรรลุพระโสดาบันขณะที่ทำหน้าที่ถวายอาหารแก่ภิกษุสงฆ์ ส่วนนางสุมนาเทวีก้าวหน้าไปกว่าพี่สาวคือสามารถบรรลุพระสกทาคามี
ต่อมานางสุมนาเทวีเกิดป่วยหนัก เมื่อใกล้จะสิ้นใจได้ขอให้คนไปเชิญบิดามาหา
เมื่อท่านเศรษฐีมาแล้วนางสุมนาเทวีได้เรียกบิดาว่า “น้องชาย”
จากนั้นไม่นานก็ได้สิ้นใจตาย
ข้างเศรษฐีเกิดความสงสัยและเกิดความไม่สบายใจเป็นอย่างยิ่งที่ถูกธิดาเรียกว่า
“น้องชาย” เพราะเข้าใจว่าธิดาในเวลาจะสิ้นใจตายไม่สามารถควบคุมสติสัมปชัญญะถึงกับเพ้อออกมาเช่นนี้
ดังนั้นเศรษฐีจึงไปเฝ้าพระศาสดาแล้วนำเรื่องนี้ไปทูลถาม
พระศาสดาได้ตรัสกับเศรษฐีว่านางสุมนาเทวีมิได้ขาดสติสัมปชัญญะก่อนที่จะขาดใจตายแต่อย่างใด นางยังมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ พระศาสดาทรงอธิบายว่าที่นางสุมนาเทวีเรียกบิดาของนางว่า “น้องชาย”นั้น
ก็เพราะนางได้บรรลุมรรคผลสูงกว่าบิดา
คือขณะที่บิดาของนางบรรลุพระโสดบันนางเองบรรลุพระสกทาคามี
และพระศาสดายังได้ตรัสบอกเศรษฐีด้วยว่านางสุมนาเทวีได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิตแล้ว
จากนั้นพระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบทพระคาถาที่ 18
ว่า
อิธ นนฺทติ เปจฺจ นนฺทติ
กตปุญฺโญ อุภยตฺถ นนฺทติ
ปุญฺญํ เม กตนฺติ นนฺทติ
ภิยฺโย นนฺทติ สุคตึ คโตฯ
คนที่ทำดีไว้แล้ว ย่อมบันเทิงในโลกทั้งสอง
คือบันเทิงในโลกนี้ และบันเทิงในโลกหน้า
เขาย่อมบันเทิงว่าเราได้ทำบุญไว้แล้ว
เมื่อไปสู่สุคติภพ ยิ่งบันเทิงมากขึ้น.
ชนเป็นอันมาก บรรลุโสดาปัตติผลเป็นต้น
พระธรรมเทศนาได้มีประโยชน์แก่มหาชน.
--------------------------------------------------------------------------------
14. เรื่องภิกษุสองสหาย
เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ที่พระเชตวันกรุงสาวัตถี
ได้ตรัสพระธรรมบทพระคาถาที่ 19
และพระคาถาที่ 20 โดยปรารภภิกษุสองสหาย
ครั้งหนึ่งมีภิกษุสองรูปเป็นสหายกันจากตระกูลคฤหบดีในกรุงสาวัตถี
ในภิกษุสองรูปนี้รูปหนึ่งศึกษาเล่าเรียนพระไตรปิฏกจนมีความเชี่ยวชาญสามารถท่องจำความในพระคัมภีร์ต่างๆได้มากมาย ท่านรูปนี้ยังได้สอนพระภิกษุอื่นอีกเป็นจำนวน 500
รูป และยังได้เป็นผู้แนะนำภิกษุอื่นๆอีก 18 กลุ่มด้วยกัน
ส่วนภิกษุอีกรูปหนึ่งนั้นมีความขยันหมั่นเพียรตามแนวทางของวิปัสสนากัมมัฏฐานจนได้บรรลุพระอรหัตตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา
ครั้งหนึ่งเมื่อพระภิกษุรูปที่สองนี้มาเฝ้าพระศาสดาที่วัดพระเชตวัน
พระภิกษุทั้งสองรูปนี้ก็ได้มาพบกัน
พระภิกษุรูปที่เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎกไม่ทราบว่าพระภิกษุอีกรูปหนึ่งได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว
จึงดูหมิ่นพระภิกษุรูปที่เป็นพระอรหันต์โดยคิดว่าท่านเป็นพระภิกษุชรารู้เรื่องคัมภีร์ต่างๆแต่เพียงเล็กน้อย ไม่ความรู้เรื่องนิกายต่างๆสักนิกาย
หรือไม่มีความรู้เรื่องในปิฎกใดปิฎกหนึ่งในพระไตรปิฎก
ดังนั้นท่านจึงคิดที่จะถามปัญหากับพระภิกษุที่เป็นพระอรหันต์ให้เกิดความอับอาย
พระศาสดาทรงทราบเจตนาที่เป็นอกุศลของพระภิกษุผู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎก
และพระองค์ยังทรงทราบด้วยว่า จากผลของการสร้างความลำบากให้แก่พระภิกษุรูปที่พระอรหันต์จะทำให้พระภิกษุผู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎกไปเกิดในนรกได้
ดังนั้นพระศาสดาทรงมีพระกรุณาต่อพระภิกษุผู้คงแก่เรียน
จึงได้เสด็จไปหาพระภิกษุทั้งสองรูปนั้นเพื่อป้องกันมิให้พระภิกษุรูปที่คงแก่เรียนถามปัญหาพระภิกษุรูปที่เป็นพระอรหันต์ พระศาสดาจึงได้ทรงตรัสถามปัญหาเสียเอง
โดยได้ตรัสถามปัญหาที่เกี่ยวกับฌานต่างๆ
และมรรคต่างๆกับพระภิกษุรูปที่คงแก่เรียนที่ชำนาญในพระไตรปิฎก
พระภิกษุรูปนี้ไม่สามารถตอบปัญหาของพระศาสดาได้เพราะตนไม่เคยนำสิ่งที่ตนสอนมาปฏิบัติ สำหรับกับพระรูปที่เป็นพระอรหันต์นั้น
ท่านเป็นผู้ปฏิบัติธรรมจนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์
ท่านสามารถตอบคำถามของพระศาสดาได้ทุกข้อ
พระศาสดาทรงยกย่องพระที่ปฏิบัติธรรมะแต่ไม่ทรงยกย่องพระที่คงแก่เรียน
พวกพระที่เป็นสัทธิวิหาริกไม่เข้าใจสาเหตุที่พระศาสดาทรงยกย่องพระภิกษุชราที่เป็นพระอรหันต์แต่ไม่ยกย่องพระภิกษุที่คงแก่เรียน
พระศาสดาได้ทรงอธิบายเรื่องนี้แก่ภิกษุเหล่านั้นว่า
พระภิกษุคงแก่เรียนที่รู้มากแต่ไม่ปฏิบัติตามธรรมะนั้นก็เหมือนกับคนเลี้ยงโค
คอยแต่เลี้ยงโคเพื่อรับค่าจ้าง ในขณะที่พระที่ปฏิบัติธรรมนั้นเหมือนกับเจ้าของโคที่ได้เสวยผลของผลิตผลห้าอย่างของโค ด้วยเหตุนี้
พระภิกษุผู้คงแก่เรียนนั้นได้แต่การอุปัฏฐากจากศิษยานุศิษย์แต่ไม่ได้บรรลุมรรคผลอะไร
ส่วนพระภิกษุสายปฏิบัติธรรมนั้น
แม้ว่าจะมีความรู้น้อยและท่องจำพระคัมภีร์ได้น้อย
แต่สามารถเข้าใจแก่นแท้ของธรรมะและนำไปปฏิบัติอย่างมุมานะขยันหมั่นเพียร
จึงได้ชื่อว่า “อนุธัมมจารี”(ผู้ปฏิบัติตามธรรม) สามารถขจัดราคะ โทสะ และโมหะได้
จิตของท่านจึงปลอดพ้นจากตัณหานุสัยและความยึดมั่นถือมั่นทั้งปวงทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า ท่านจึงเป็นผู้ได้เสวยผลประโยชน์ของมรรคและผลจริงๆ
จากนั้นพระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบทพระคาถาที่ 19
และพระคาถาที่ 20 ดังนี้
พหุมฺปิ
เจ สหิตํ ภาสมาโน
น ตกฺกโร โหติ นโร ปมตฺโต
โคโปว คาโว คณยํ ปเรสํ
น ภาควา สามญฺญสฺส โหติฯ
คนที่ได้แต่ท่องจำตำราได้มาก
แต่มัวประมาท ไม่ปฏิบัติตามคำสอน
ย่อมไม่ได้รับผลที่ควรจะได้จากการบวช
เหมือนคนเลี้ยงโค นับโคให้คนอื่นเขา.
อปฺปมฺปิ เจ สหิตํ ภาสมาโน
ธมฺมสฺส โหติ อนุธมฺมจารี
ราคญจ โทสญฺจ ปหาย โมหํ
สมฺมปฺปชาโน สุวิมุตฺตจิตฺโต
อนุปาทิยาโน อิธ วา หุรํ วา
ส ภาควา สามญฺญสฺส โหติฯ
คนที่ท่องจำตำราได้น้อย แต่ประพฤติตามธรรม
ละราคะ โทสะ โมหะได้
รู้แจ้งเห็นจริง มีจิตหลุดพ้น
ไม่ยึดมั่นทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
เขาย่อมได้รับผลของการบวช.
เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมากบรรลุโสดาปัตติผลเป็นต้น
พระธรรมเทศนาได้มีประโยชน์แก่มหาชน.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น