วันศุกร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2559

ธรรมบทรวมชุด : บทที่ 6 : ปัณฑิตวรรค




01.เรื่องพระราธเถระ

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภท่านพระราธะ  ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 76 นี้

ราธะเป็นพราหมณ์ตกยาก  พักอาศัยอยู่ในวัด โดยช่วยงานเล็กๆน้อยๆในวัด เช่น ดายหญ้า กวาดบริเวณ ถวายสิ่งของมีน้ำล้างหน้าเป็นต้น แก่พระภิกษุทั้งหลาย   ข้างภิกษุทั้งหลายก็ได้อนุเคราะห์แก่ราธพราหมณ์  ด้วยการให้อาหาร   และสิ่งของอื่นๆ  แต่ก็ไม่ยอมบวชเป็นภิกษุให้  แม้ว่าราธพราหมณ์จะต้องการบวชเป็นภิกษุมากก็ตาม

อยู่มาวันหนึ่ง  ในตอนเช้าตรู่  เมื่อพระศาสดาทรงตรวจดูสัตวโลกด้วยญาณพิเศษ  ทอดพระเนตรเห็นราธพราหมณ์นั้นแล้ว และทรงทราบว่าราธพราหมณ์นี้จะได้บรรลุพระอรหัตตผล  พระศาสดาจึงได้เสด็จไปหาราธพรหมณ์ผู้ชราภาพนั้น และได้ทรงทราบว่าภิกษุทั้งหลายในวัดนั้นไม่ต้องการให้พราหมณ์นั้นบวชเป็นพระภิกษุ  ดังนั้นพระศาสดาจึงทรงเรียกประชุมพระภิกษุทั้งหลาย แล้วตรัสถามว่า  ภิกษุทั้งหลาย มีใครๆระลึกถึงคุณของพราหมณ์นี้บ้างไหม  พระสารีบุตรเถระกราบทูลว่า พระเจ้าข้า  ข้าพระองค์ระลึกได้  เมื่อข้าพระองค์เที่ยวบิณฑบาตอยู่ในกรุงราชคฤห์  พราหมณ์นี้ให้คนถวายภิกษาทัพพีหนึ่ง  ที่เขานำมาเพื่อตน  ข้าพระองค์ระลึกถึงคุณของพราหมณ์นี้ได้  พระศาสดาจึงตรัสว่า หากเป็นเช่นนั้น การที่เธอช่วยพราหมณ์ผู้มีอุปการะหลุดพ้นจากทุกข์จะมิสมควรหรือ  พระสารีบุตรทูลสนองพระดำรัสและได้ให้พราหมณ์นั้นบวชแล้ว  จากนั้นพระสารีบุตรได้แนะนำพร่ำสอนพระภิกษุชรานี้และภิกษุชรานี้ก็เป็นผู้ว่าง่าย  ย่อมรับโอวาทของพระสารีบุตรเถระด้วยความเคารพ  เมื่อบวชได้เพียง 2-3 วันเท่านั้น ก็ได้บรรลุพระอรหัตตผลแล้ว   

ภายหลังวันหนึ่ง พวกภิกษุสนทนากันในโรงธรรมว่า พระสารีบุตรเถระ เป็นผู้กตัญญูกตเวที ระลึกถึงอุปการะแค่ภิกษาทัพพีหนึ่ง ให้พราหมณ์ตกยากบวชแล้ว แม้พระราธเถระก็เป็นผู้อดทนต่อโอวาท ได้ท่านผู้ควรแก่การสั่งสอนเหมือนกันแล้วพระศาสดาสดับคำสนทนาของภิกษุเหล่านั้นแล้ว ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย  ภิกษุควรเป็นผู้ว่าง่านเหมือนราธะ แม้อาจารย์ชี้โทษกล่าสอนอยู่  ก็ไม่ควรโกรธ  ควรเห็นบุคคลผู้ให้โอวาท เหมือนบุคคลผู้บอกขุมทรัพย์ให้

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 76 ว่า

นิธีนํว  ปวตฺตารํ
ยํ  ปสฺเส  วชฺชทสฺสินํ
นิคยฺหวาทึ  เมธาวึ
ตาทิสํ ปณฺฑิตํ ภเช
ตาทิสํ  ภชมานสฺส
เสยฺโย  โหติ น ปาปิโยฯ

พึงเห็นคนที่คอยชี้โทษ
คอยพูดจาดุด่าห้ามปราม
มีปัญญา  เหมือนผู้มาบอกขุมทรัพย์ให้
ควรคบกับผู้นั้น  ซึ่งเป็นคนฉลาด
เพราะเมื่อคบกับผู้นั้น
จะมีแต่ประโยชน์  ไม่มีข้อเสียหาย.

เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง  ชนเป็นอันมาก  ได้บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย  มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น.

-------------------------------------------------------------------------

02. เรื่องภิกษุอัสสชิและปุนัพพสุกะ

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภภิกษุอัสสชิและภิกษุปุนัพพสุกะ   ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 77 นี้ ที่กิฏาคีรี

พระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะ  พร้อมด้วยภิกษุบริวาร 500 รูป ไปพักอยู่ในกิฏาคีรี  ขณะที่พระภิกษุเหล่านี้อยู่ที่นี่ ได้หาเลี้ยงชีพโดยการปลูกไม้ดอกและไม้ผลเพื่อขาย  ซึ่งเป็นการละเมิดวินัยของพระภิกษุ

พระศาสดาทรงสดับข่าวนั้นแล้ว ตรัสเรียกพระอัครสาวกทั้ง ๒ พร้อมด้วยบริวารมา  เพื่อทรงประสงค์ทำปัพพาชนียกรรมแก่ภิกษุเหล่านั้น  ตรัสว่า สารีบุตรและโมคคัลลานะ เธอจงพากันไปเถิด ในภิกษุเหล่านั้น เหล่าใดไม่เชื่อฟังคำของเธอ  จงทำปัพพาชนียกรรมแก่ภิกษุเหล่านั้น  ส่วนเหล่าใดเชื่อฟัง  จงว่ากล่าวพร่ำสอน  ธรรมดาว่าผู้ว่ากล่าวสั่งสอน  ย่อมไม่เป็นที่รักของผู้ที่มิใช่บัณฑิตเหล่านั้น  แต่เป็นที่รักที่ชอบใจของบัณฑิตทั้งหลาย

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 77 ว่า
โอวเทยฺยานุสาเสยฺย
อสพฺพา จ นิวารเย
สตํ หิ โส ปิโย โหติ
อสตํ โหติ อปฺปิโยฯ

พึงว่ากล่าวตักเตือนกัน
และพึงห้ามกันจากความไม่ดี
ผู้ว่ากล่าวตักเตือน
เป็นที่รักของคนดี
แต่ไม่เป็นที่รักของคนไม่ดี.



เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง  ชนเป็นอันมาก  ได้บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย  มีพระโสดปัตติผลเป็นต้น

ฝ่ายพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ  ก็ไปที่กิฏาคีรีนั้น  ว่ากล่าวสั่งสอนภิกษุเหล่านั้นแล้ว ในภิกษุเหล่านั้น  บางพวกก็รับโอวาทแล้วตั้งใจประพฤติปฏิบัติ  บางพวกก็สึกไป  บางพวกต้องปัพพาชนียกรรม.
--------------------------------------------------------------------

03. เรื่องพระฉันนเถระ

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภพระฉันนเถระ  ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 78 นี้
ท่านพระฉันนะเคยเป็นนายสารถี  ตามเสด็จเจ้าชายสิทธัตถะ ในวันออกมหาภิเนษกรมณ์(ออกบวช)  เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วนั้น ฉันนะก็ได้ตามมาบวชเป็นพระภิกษุ  แต่เมื่อมาบวชเป็นภิกษุแล้วพระฉันนะกลายแป็นพระหัวดื้อ และมีทิฐิมานะมากโดยทะนงตัวว่าเป็นผู้ใกล้ชิดกับพระศาสดา  พระฉันนะเคยกล่าว่า เราเมื่อตามเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ กับพระลูกเจ้าของเราทั้งหลายในเวลานั้น มิได้เห็นผู้อื่นแม้สักคนเดียว  แต่บัดนี้  ท่านพวกนี้เที่ยวกล่าวว่า เราชื่อสารีบุตร เราชื่อโมคคัลลานะ  พวกเราเป็นอัครสาวก

เมื่อพระศาสดาทรงสดับข่าวนั้น จึงได้รับสั่งให้พระฉันนเถระมาเฝ้า แล้วทรงอบรมสั่งสอน ฉันนเถระได้แต่นิ่งเงียบแต่ก็ยังกลับไปด่าว่าพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเหมือนเดิม  พระศาสดารับสั่งให้พระฉันนเถระมาตรัสสอนแบบเดียวนี้ถึง 3 ครั้ง ว่า  ฉันนะ  อัครสาวกทั้งสองเป็นกัลยาณมิตร เป็นบุรุษชั้นสูงของเธอ เธอจงเสพ จงคบกัลยาณมิตรเห็นปานนี้

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 78 ว่า

น ภเช ปาปเก มิตฺเต
น ภเช ปุริสาธเม
ภเชถ มิตฺเต กลฺยาเณ
ภเชถ ปุริสุตฺตเมฯ

ไม่ควรคบมิตรชั่ว
ไม่ควรคบคนต่ำช้า
ควรคบมิตรที่ดี
ควรคบคนสูงสุด.

แม้ว่าจะถูกพระศาสดาว่ากล่าวตักเตือนอย่างไร  พระฉันนเถระก็ยังไม่ยอมกลับตัวกลับใจและยังคงด่าว่าพระอัครสาวกทั้งสองและพระภิกษุทั้งหลายอยู่ต่อไป  พระศาสดาทรงทราบเช่นนี้ได้ตรัสว่า พระฉันนเถระจะไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในระหว่างที่พระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ แต่หลังจากพระองค์ปรินิพพานแล้วพระฉันนเถระจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนี้แน่  ในเวลาจวนจะเสด็จปรินิพพาน พระศาสดาได้ตรัสเรียกพระอานนท์มาเฝ้าแล้วตรัสให้ภิกษุสงฆ์ลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนเถระ (คือให้ภิกษุทั้งหลายเมินเฉยไม่สมาคมด้วย)

เมื่อพระศาสดาเสด็จปรินิพพานแล้ว  พระฉันนเถระได้ฟังพรหมทัณฑ์ ที่พระอานนทเถระยกขึ้นมากล่าว มีความทุกข์ เสียใจ ล้มสลบถึง 3 ครั้ง แล้ว แล้ววิงวอนว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ  ขอท่านอย่าให้กระผมฉิบหาบเลยท่านได้ยอมรับผิดและได้ขอขมาต่อภิกษุทั้งหลาย  จากนั้นไม่นานท่านก็ได้บรรลุพระอรหัตตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย.

-------------------------------------------------------------------------

04.เรื่องพระมหากัปปินเถระ

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภพระมหากัปปินเถระ  ตรัสพระธรรมบท  พระคาถาที่ 79 นี้
ท่านมหากัปปินเถระ เป็นกษัตริย์อยู่ในกุกกุฏวดีนคร พระองค์ทรงมีพระมเหสีพระนามว่าอโนชา (ดอกอังกาบ) พระเจ้ามหากัปปินะมีอำมาตย์ที่เป็นข้าราชบริพารจำนวน 1000 คน ทำหน้าที่ช่วยเหลือพระองค์ในการปกครองประเทศ  วันหนึ่งพระราชาพร้อมด้วยอำมาตย์ผู้เป็นข้าราชบริพารได้เสด็จประพาสอุทยาน  ทรงได้พบกับพวกพ่อค้าจำนวน 500 คนมาจากกรุงสาวัตถี  ทำให้ทรงทราบว่าพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ได้อุบัติขึ้นแล้วในโลก  พระองค์พร้อมด้วยข้าราชบริพารจึงได้เสด็จไปที่นครสาวัตถี

ในวันนั้นพระศาสดาได้ตรวจดูสัตวโลกด้วยพระญาณพิเศษในเวลาใกล้รุ่ง ได้ทอดพระเนตรเห็นพระมหากัปปินะพร้อมทั้งข้าราชบริพารเสด็จมาที่นครสาวัตถี  พระศาสดาทรงทราบด้วยว่า พระเจ้ามหากัปปินะพร้อมทั้งข้าราชบริพารทั้งหมดจะได้บรรลุพระอรหัตตผล  จึงได้เสด็จไปต้อนรับเป็นระยะทางห่างจากกรุงสาวัตถีถึง 120 โยชน์  โดยได้ประทับนั่งเปล่งพระฉัพพรรณรังสี ณ ภายใต้โคนต้นนิโครธ(ต้นไทร) ริมฝั่งแม่น้ำจันทภาคานที  พระเจ้ามหากัปปินะและข้าราชบริพารได้เสด็จมาถึงที่ซึ่งพระศาสดาทรงรอต้อนรับอยู่นั้น  เมื่อพระเจ้ากัปปินและข้าราชบริพารทอดพระเนตรเห็นฉัพพรรณรังสีแผ่ซ่านออกจากพระสรีระของพระศาสดา  ก็ได้เข้าไปถวายบังคม  จากนั้นพระศาสดาได้แสดงอนุปุพพีกถา(ทานกถา, สีลกถา, สัคคกถา, กามทีนวกถา, เนกขัมมานิสังสกถา) ให้ฟัง  หลังจากฟังพระธรรมเทศนานั้นแล้ว  พระเจ้ามหากัปปินะพ้อมทั้งข้าราชบริพารได้บรรลุพระโสดาปัตติผล แล้วทูลขอบรรพชาอุปสมบทจากพระศาสดา    พระศาสดาทรงใคร่ครวญแล้วทรงทราบว่า กุลบุตรเหล่านี้ ได้เคยถวายจีวรพันผืน  แด่พระปัจเจกพุทธเจ้าพันองค์  ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ ได้ถวายจีวรสองหมื่นผืน แก่ภิกษุสองหมื่นรูป  ความมาแห่งบาตรและจีวรอันสำเร็จแล้วด้วยฤทธิ์ของกุลบุตรเหล่านี้ ไม่น่าอัศจรรย์จึงทรงเหยียดพระหัตถ์ขวา ตรัสว่า ท่านทั้งหลายจงเป็นภิกษุมาเถิด  ท่านทั้งหลายจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด  ทันใดนั้นเองพระเจ้ามหากัปปินะพร้อมทั้งข้าราชบริพารทั้งหมดก็ได้บวชเป็นภิกษุ

ในขณะเดียวกัน พระนางอโนชาเมื่อได้ทรงทราบว่า พระราชาพร้อมด้วยข้าราชบริพารฝ่ายชายได้เสด็จไปที่เมืองสาวัตถีกันหมดแล้ว  ก็ได้รับสั่งให้ภรรยาของอำมาตย์ทั้ง 1000 คนมาเฝ้าแล้วทรงแจ้งเรื่องนี้ให้ทุกคนได้ทราบ  แล้วพระนางพร้อมด้วยข้าราชบริพารฝ่ายหญิงทั้งหมดก็ได้เสด็จตามเส้นทางที่พระเจ้ากัปปินพร้อมข้าราชบริพารฝ่ายชายเสด็จไปแล้ว   พระนางและข้าราชบริพารก็ได้มาถึงยังที่ซึ่งพระศาสดาประทับนั่งอยู่นั้น  และเมื่อทอดพระเนตรเห็นพระฉัพพรรณรังสีแผ่ซ่านออกมาจากพระสรีระของพระศาสดาก็ได้เข้าไปถวายบังคม  ในช่วงนี้พระศาสดาทรงแสดงอิทธิฤทธิ์บันดาลให้พระนางอโนชาและข้าราชบริพารฝ่ายหญิงไม่สามารถมองเห็นพระเจ้ามหากัปปินะและข้าราชบริพารฝ่ายชายเหล่านั้นได้   ดังนั้นพระนางอโนชาจึงได้ทูลถามว่า พระเจ้ามหากัปปินะและข้าราชบริพารฝ่ายชายไปที่ไหนเสีย  พระศาสดาได้ตรัสว่าใ ห้พระนางพร้อมทั้งข้าราชบริพารฝ่ายหญิงได้รอคอยสักครู่หนึ่ง พระเจ้ามหากัปปินะและข้าราชบริพารฝ่ายชายก็จะเสด็จมากัน  จากนั้นพระศาสดาได้ทรงแสดงอนุปุพพีกถา ในเวลาจบเทศนา พระนางอโนชา พร้อมทั้งข้าราชบริพาร ได้บรรลุพระโสดาปัตติผล   ฝ่ายพระมหากัปปินเถระ พร้อมทั้งพระข้าราชบริพารเหล่านั้น สดับพระธรรมเทศนาที่พระศาสดาทรงแสดงแก่หญิงเหล่านั้นแล้ว ก็ได้บรรลุพระอรหัตตผล  ในขณะนั้นเอง พระศาสดาทรงคลายฤทธิ์ให้ทั้งสองฝ่ายสามารถแลเห็นกันได้

พระนางอโนชาพร้อมด้วยข้าราชบริพารฝ่ายหญิง ได้ทูลขอบรรพชาเป็นภิกษุณี  พระศาสดาได้ทรงแนะนำให้ไปบวชกันที่กรุงสาวัตถี  พระนางอโนชาและหญิงข้าราชบริพารทั้งหมดจึงได้เดินทางไปบวชเป็นภิกษุณีที่กรุงสาวัตถี  และต่อมาไม่นานทุกนางก็ได้สำเร็จพระอรหัตตผล  ข้างพระศาสดาเองก็ได้เสด็จไปไปสู่เพระเชตวันโดยทางอากาศ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ 1000 รูป

ณ ที่วัดพระเชตวัน พระมหากัปปินเถระ เที่ยวเปล่งอุทานในที่ทั้งหลาย เช่น ที่พักกลางคืนและที่พักกลางวันเป็นต้นว่า สุขหนอ สุขหนอ  (อโห สุขํ)  ภิกษุทั้งหลายเมื่อได้ยินคำเปล่งอุทานนี้บ่อยครั้งก็ได้กราบทูลพระศาสดา  พระศาสดาได้ตรัสตอบว่า ภิกษุทั้งหลาย บุตรของเรา ย่อมเปล่งอุทานปรารภสุขในกาม  สุขในราชสมบัติ หามิได้  ก็แต่ว่า  ความเอิบอิ่มในธรรม  ย่อมเกิดแก่บุตรของเรา  บุตรของเรานั้น ย่อมเปล่งอุทานอย่างนั้น เพราะปรารภอมตมหานิพพาน

จากนั้นพระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  พระคาถาที่ 79 ว่า

ธมฺมปีติ สุขํ เสติ
วิปฺปสนฺเนน เจตสา
อริยปฺปเวทิเต ธมฺเม
สทา รมติ ปณฺฑิโตฯ

ผู้ดื่มด่ำธรรม มีใจผ่องใสแล้ว
อยู่เป็นสุข
บัณฑิตยินดีในธรรม
ที่พระอริยะเจ้าประกาศแล้ว
ในกาลทุกเมื่อ.


เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง  ชนเป็นอันมาก  ได้บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น.

--------------------------------------------------------------------------------

05.เรื่องบัณฑิตสามเณร

พระศาสดา  เมื่อประทับอยูในพระเชตวัน  ทรงปรารภบัณฑิตสามเณร  ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 80 นี้

สามเณรบัณฑิต  เป็นบุตรชายของเศรษฐีในกรุงสาวัตถี   ได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุแค่ 7 ขวบ ในวันที่ 8 หลังจากที่บรรพชาเป็นสามเณร ขณะที่ไปบิณฑบาตกับพระสารีบุตรเถระ มองเห็นชาวนากำลังไขน้ำเข้านาก็ได้เรียนถามพระเถระว่า คนทั้งหลายย่อมไขน้ำที่ไม่มีจิตเห็นปานนี้สู่ที่ที่ปรารถนาแล้วๆได้หรือขอรับพระเถระตอบว่า ได้สิ เธอ  เมื่อเดินต่อไปอีก สามเณรบัณฑิตแลเห็นช่างศรกำลังดัดลูกศรด้วยการใช้ไฟลนแล้วเล็งด้วยหางตาดัดให้ตรง  และต่อไปก็ได้แลเห็นช่างถากกำลังถากไม้ ทำสิ่งต่างๆเช่นล้อเกวียนเป็นต้น สามเณรก็เกิดความคิดว่า ถ้าคนทั้งหลายไขน้ำซึ่งไม่มีจิตเช่นนี้ไปสู่ที่ที่ตนปรารถนาได้ ถ้าคนทั้งหลายถือเอาลูกศรอันไม่มีจิตลนไฟแล้วดัดให้ตรงได้   ถ้าคนทั้งหลายถือเอาท่อนไม้ที่ไม่มีจิต ไปทำเป็นล้อเป็นต้นได้ เพราะเหตุไร คนผู้มีจิตจึงจักไม่อาจทำจิตของตนให้เป็นไปในอำนาจแล้วบำเพ็ญสมณธรรมเล่า

จากนั้นบัณฑิตสามเณรได้ขออนุญาตจากพระเถระขอกลับไปที่ห้องพักของตนในวัด แล้วมุ่งมั่นพยายามปฏิบัติธรรมโดยพิจารณากายานุปัสสนากัมมัฏฐาน ทั้งท้าวสักกเทวราชและท้าวมหาราชทั้ง 4 ก็ได้เสด็จมาช่วยบัณฑิตสามเณรโดยบันดาลให้อาณาบริเวณในวัดเงียบสงบไร้เสียงรบกวนจากนกเป็นต้น ก่อนเวลาฉันอาหารเช้าบัณฑิตสามเณรก็ได้สำเร็จพระอรหัตตผล

ในขณะนั้น พระสารีบุตรเถระกำลังจะนำอาหารมาให้สามเณรฉัน  พระศาสดาทรงทอดพระเนตรเห็นด้วยพระจักษุทิพย์ว่า สามเณรได้บรรลุพระอนาคามิผลแล้วและหากให้ปฏิบัติธรรมอยู่ต่อไปก็จะได้บรรลุพระอรหัตตผลในไม่ช้านี้  ดังนั้นพระศาสดาจึงได้ตัดสินพระทัยไปดักคอยห้ามพระสารีบุตรเถระมิให้เข้าไปในห้อง  โดยเสด็จไปประทับยืนอยู่ที่ประตูแล้วซักถามปัญหากับพระสารีบุตรเพื่อถ่วงเวลา  ขณะที่การสนทนาระหว่างพระศาสดากับพระสารีบุตรกำลังดำเนินอยู่นั้น บัณฑิตสามเณรก็ได้บรรลุพระอรหัตตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย ในวันที่ 8 หลังจากที่ได้บรรพชาเป็นสามเณร



ต่อมาพระภิกษุทั้งหลายได้สนทนากันในโรงธรรมเกี่ยวกับเรื่องนี้ พระศาสดาได้ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ในเวลาผู้มีบุญทำสมณธรรม  แม้แต่ท้าวสักกเทราชและท้าวมหาราชทั้ง 4 ก็ได้มาช่วยให้การอารักขา  แม้แต่เราเองมาได้มาคอยดูแลที่ประตูเพื่อมิให้บัณฑิตสามเณรถูกรบกวน บัณฑิตสามเณร เมื่อได้เห็นพวกชาวนาไขน้ำเข้านา พวกช่างศรดัดลูกศรให้ตรง  พวกช่างถากกำลังถากไม้ ถือเอาเหตุนั้น ให้เป็นอารมณ์  ฝึกจิตตนและปฏิบัติธรรม จนได้บรรลุพระอรหัตตผลในบัดนี้

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 80 ว่า

อุทกํ หิ นยนฺติ เนตฺติกา
อุสุการา นมยนฺติ เตชนํ
ทารํ นมยนฺติ ตจฺฉกา
อตฺตานํ ทมยนฺติ ปณฑิตาฯ

คนไขน้ำทั้งหลายย่อมไขน้ำ
ช่างศรทั้งหลายย่อมดัดศร
ช่างถากทั้งหลายย่อมถากไม้
บัณฑิตทั้งหลายย่อมฝึกตน.

เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง  ชนเป็นอันมาก  ได้บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย  มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น.

--------------------------------------------------------------------


06. เรื่องพระลกุณฏกภัททิยเถระ


พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภพระลกุณฏกภัททิยเถระ  ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 81 นี้

พระลกุณฏกภัททิยเถระ อยู่ในวัดพระเชตวันร่วมกับภิกษุและสามเณรทั้งหลาย ด้วยเหตุที่พระเถระร่างเตี้ยท่านจึงมีสร้อยชื่อว่า ลกุณฏกะ  พระลกุณฏกภัททิยะแม้จะถูกพระภิกษุหรือสามเณรที่เป็นปุถุชนกลั่นแกล้งต่างๆ เช่นมาจับที่ศีรษะบ้าง  ที่หูบ้าง  ที่จมูกบ้าง พลางกล่าวว่า น้าจ้ะ น้าจ๋า น้าไม่อยากสึก ยังยินดีแน่วแน่ในพระศาสดาดีอยู่หรือท่านก็ไม่โกรธ   ไม่ทำการโต้ตอบพระภิกษุและสามเณรที่มากลั่นแกล้งกระเซ้าเย้าแหย่ท่าน  

ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย  พวกท่านจงดูเถิด  สหธรรมิกมีสามเณรเป็นต้น  เห็นพระลกุณฏกภัททิยเถระแล้ว  ย่อมรังแกอย่างนั้นอย่างนี้  ท่านไม่โกรธ  ไม่ประทุษร้ายในสหธรรมิกเหล่านั้นเลย” 

พระศาสดาเสด็จมาแล้ว เมื่อทรงทราบคำสนทนานั้นแล้ว ตรัสว่า อย่างนั้น  ภิกษุทั้งหลาย  ธรรมดาพระขีณาสพ  ย่อมไม่โกรธ  ไม่ประทุษร้ายเลย  เพราะท่านเหล่านั้น ไม่หวั่นไหว  ไม่สะเทือน เช่นกับศิลาแท่งทึบ

จากนั้น พระศาสดาตรัส  พระธรรมบท  พระคาถาที่ 81 ว่า

เสโล ยถา เอกฆโน
วาเตน    สมีรติ
เอวํ นินฺทาปสํสาสุ
น สมิญฺชนฺติ ปณฺฑิตาฯ

ภูเขาศิลาเป็นแท่งเดียว
ไม่สั่นไหวเพราะแรงลมฉันใด
บัณฑิตก็ไม่หวั่นไหว
เพราะการนินทาและสรรเสริญ ฉันนั้น.

เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง  ชนเป็นอันมาก  ได้บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น.

------------------------------------------------------------------------

07.เรื่องมารดาของนางกาณา

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภมารดาของนางกาณา  ตรัสพระธรรมบท  พระคาถาที่ 82 นี้

นางกาณามาตา เป็นอุบาสิกาในพระพุทธศาสนา  นางมีบุตรสาวชื่อนางกาณา ได้แต่งงานกับชายต่างตำบลผู้หนึ่ง  ขณะที่นางกาณากลับมาเยี่ยมมารดาเป็นระยะเวลาสั้นๆนั้น  สามีของนางก็ได้ส่งข่าวมาให้นางรีบกลับบ้าน  มารดาได้บอกให้นางกาณาคอยอยู่ก่อน เพราะนางต้องการจะทำขนมฝากไปให้บุตรเขยได้รับประทาน  พอวันรุ่งขึ้นเมื่อนางกาณามาตาทำขนมไว้ ก็ได้มีภิกษุ 4 รูปมาบิณฑบาต นางจึงได้นำขนมนั้นใส่บาตร  และก็เป็นอย่างนี้ติดต่อกันถึง 4 วัน  ทำให้ไม่มีขนมและนางกาณาก็เดินทางกลับบ้านสามีไม่ได้

ข้างสามีของนางกาณา เมื่อภรรยาไม่กลับมาตามกำหนด ก็ได้ยื่นคำขาดว่า หากนางกาณาไม่กลับในวันรุ่งขึ้นเขาก็จะนำหญิงอื่นมาเป็นภรรยา   และพอถึงกำหนดคำขาดเมื่อนางกาณาไม่กลับเขาก็ไปนำหญิงอื่นมาเป็นภรรยาจริงๆ  นางกาณามีความแค้นเคืองและด่าว่าพวกภิกษุในที่ทุกแห่งที่ตนพบเห็นว่า ชีวิตการครองเรือนของเราแตกสลายก็เพราะภิกษุเหล่านี้เป็นเหตุให้ภิกษุทั้งหลายไม่ต้องการเดินผ่านบ้านของนางกาณามาตา

พระศาสดาเมื่อสดับเรื่องที่นางกาณาด่าว่าพระภิกษุทั้งหลาย ก็ได้เสด็จไปยังบ้านของนางกาณามาตา  และนางกาณามาตาได้ถวายข้าวยาคูและของขบเคี้ยวแด่พระศาสดา  หลังจากเสร็จภัตตกิจแล้ว  พระศาสดาได้รับสั่งให้เรียกนางกาณามาเฝ้า และได้ตรัสถามนางว่า ภิกษุทั้งหลายของเรา ถือเอาสิ่งของที่ให้แล้วหรือว่าที่ยังมิได้ให้เล่า  นางกาณาตอบว่า ภิกษุทั้งหลายถือเอาสิ่งของที่ถวายให้แล้วเท่านั้น  และได้กล่าวด้วยว่า โทษของพระผู้เป็นเจ้าไม่มี  พระเจ้าข้า หม่อมฉันเท่านั้นมีโทษ  นางถวายบังคมพระศาสดา  ขอประทานอภัยโทษ  พระศาสดาได้แสดงอนุปุพพีกถา(ทานกถา, ศีลกถา, สัคคกถา, กามาทีนวกถา, เนกขัมมานิสังสกถา) แก่นาง  ทำให้นางได้บรรลุพระโสดาปัตติผล

ในระหว่างทางเสด็จกลับพระเชตวัน พระศาสดาได้ทรงพบกับพระเจ้าปเสนทิโกศล  เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลได้สดับเรื่องราวของนางกาณาที่ด่าว่าพระภิกษุสงฆ์นั้นแล้ว  ได้ทูลถามพระศาสดาว่า สามารถทำนางให้เลิกด่าว่าภิกษุสงฆ์แล้วหรือยัง  พระศาสดาตรัสว่า ถวายพระพร  มหาบพิตร  อาตมภาพทำนางมิให้ด่าภิกษุแล้ว  และให้เป็นเจ้าของทรัพย์อันเป็นโลกุตตระแล้ว

พระเจ้าปเสนทิโกศลทูลว่า เมื่อพระองค์ทรงทำนางให้เป็นเจ้าของทรัพย์ที่เป็นโลกกุตตระแล้วเช่นนี้  หม่อมฉันจักทำนางให้เป็นเจ้าของทรัพย์ที่เป็นโลกีย์  จากนั้นได้รับสั่งให้ส่งคนไปรับนางกาณามาที่พระราชวัง  เมื่อนางกาณามาถึงแล้ว พระราชาก็ได้ทรงแต่งตั้งเป็นพระธิดาแล้วตรัสว่า ผู้ใดสามารถเลี้ยงดูธิดาของเราได้  ผู้นั้นจงรับเอานางไปมหาอำมาตย์ผู้หนึ่งได้รับพระราชทานนางกาณาไปเป็นธิดา แล้วมอบทรัพย์สมบัติทุกอย่างให้แก่นาง กล่าวว่า เจ้าจงทำบุญตามใจชอบเถิดจำเดิมแต่วันนั้นมา นางกาณาก็ได้จัดตั้งโรงทาน ถวายทานแก่ภิกษุทั้งหลายที่ประตูทั้ง 4 ทิศ

เมื่อภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมถึงเรื่องนี้  พระศาสดาได้ตรัสกับภิกษุเหล่านั้นว่า ภิกษุทั้งหลาย จิตของนางกาณาที่ขุ่นมัวและเศร้าหมอง  เราได้ทำให้ใสกระจ่าง  เหมือนห้วงน้ำมีน้ำใสแล้ว เพราะถ้อยคำของเรา

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัส พระธรรมบท พระคาถาที่ 82 ว่า

ยถาปิ รหโท คมฺภีโร
วิปฺปสนฺโน อนาวิโล
เอวํ ธมฺมานิ สุตฺวาน
วิปฺปสีทนฺติ ปณฺฑิตาฯ

ห้วงน้ำลึก มีน้ำใส
ไม่ขุ่นมัว ฉันใด
บัณฑิตทั้งหลาย เมื่อฟังธรรมแล้ว
ก็ย่อมผ่องใส ฉันนั้น.

เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง  ชนเป็นอันมาก  ได้บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาบันเป็นต้น.



----------------------------------------------------------------------

08. เรื่องภิกษุ  500 รูป

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภภิกษุ 500 รูป  ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 83 นี้

ครั้งหนึ่ง พระศาสดาเสด็จไปประทับอยู่ในเมืองเวรัญชา พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ 500 รูป ตามคำทูลนิมนต์ของพราหมณ์ชื่อเวรัญชะ  แต่เวรัญชพราหมณ์ถูกมารดลใจจนลืมนึกถึงพระศาสดาและภิกษุทั้งหลาย   ประจวบกับเวลานั้นเมืองเวรัญชาเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอดอยากอาหาร  พวกภิกษุเที่ยวบิณฑบาตไปตามเมืองเวรัญชาทั้งในเมืองและนอกเมืองไม่ค่อยได้อาหารบิณฑบาต จึงลำบากในการดำรงชีพมาก  แต่แม้ว่าจะเผชิญกับความลำบากเช่นนี้ พระภิกษุทั้งหลายก็ไม่ท้อแท้ใจ  มีความสันโดษกับข้าวแดงสำหรับเลี้ยงมาที่พวกพ่อค้าม้าจัดแจงนำมาถวายทุกวัน

พระศาสดาประทับอยู่ที่เมืองเวรัญชานั้นสิ้นไตรมาสแล้ว  ทรงอำลาเวรัญชพราหมณ์  เสด็จกลับวัดพระเชตวัน พร้อมกับภิกษุ 500 รูปนั้น  ชาวเมืองสาวัตถีได้ถวายอาคันตุกภัตแด่พระศาสดาด้วยการจัดอาหารดีๆทุกชนิดมาถวาย

พวกคนที่เลี้ยงชีวิตด้วยการรับประทานเศษอาหารที่เหลือจากพระสงฆ์(พวกกินเดน) 500 คน เมื่อได้รับประทานอาหารดีๆ ที่เหลือจากที่พระภิกษุฉันแล้ว ก็นอนหลับ เมื่อลุกขึ้นมา ก็ไปที่ฝั่งแม่น้ำ แผดเสียงโห่ร้อง  กระโดดโลดเต้น ซ้อมมวยปล้ำ เล่นกัน ส่งเสียงอึกทึก

พวกภิกษุสนทนากันในโรงธรรมเกี่ยวกับพฤติกรรมของพวกคนกินเดนเหล่านี้ ดูเถิด ผู้มีอายุทั้งหลาย ในเวลาเกิดทุพภิกขภัย  พวกกินแดนเหล่านี้  มิได้แสดงอาการผิดปกติอะไรๆ ในเมืองเวรัญชา  แต่พอมาได้รับประทานอาหารที่ดีๆเข้า  เที่ยวแสดงอาการผิดปกติหลายๆอย่าง ส่วนพวกภิกษุกลับมีพฤติกรรมที่สงบทั้งในตอนที่อยู่ในเมืองเวรัญชาและเมื่อตอนที่มาอยู่ที่นี่

พระศาสดาได้ตรัสกับพวกภิกษุที่สนทนากันเหล่านี้ว่า เป็นธรรมชาติของอสัตบุรุษที่จะแสดงออกถึงความเศร้าโศกเสียใจเมื่อประสบทุกข์ และแสดงความดีใจเมื่อประสบสุข  ส่วนสัตบุรุษนั้นย่อมไม่แสดงอาการฟูขึ้นและอาการฟุบลงเมื่อเผชิญกับความสุขและความทุกข์   

จากนั้นพระศาสดาได้ตรัส พระธรรมบท พระคาถาที่ 83 ว่า

สพฺพตฺถ เว สปฺปุริสา จชนฺติ
นะ กามกามา ลปยนฺติ สนฺโต
สุเขน ผุฏฺฐา  อถวา ทุกฺเขน
น อุจฺจาวจํ ปณฺฑิตา ทสฺสยนฺติฯ

สัตบุรุษทั้งหลายสละความยึดมั่นในทุกสิ่ง
ไม่พูดพล่ามเพราะความอยากได้
เมื่อมีสุขหรือทุกข์มากระทบ
บัณฑิตทั้งหลายจะไม่แสดงอาการฟูใจ หรือฟุบใจ.

เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง  ชนเป็นอันมาก  ได้บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย  มีพระโสดาบันเป็นต้น.

-----------------------------------------------------------------------


09.เรื่องพระเถระผู้ตั้งอยู่ในธรรม

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภพระธรรมิกเถระ  ตรัสพระธรรมบท  พระคาถาที่ 84 นี้

อุบาสกคนหนึ่ง ครองเรือนกับภรรยาอยู่ในกรุงสาวัตถี อยู่วันหนึ่งอุบาสกผู้นี้ได้กล่าวกับภรรยาที่กำลังตั้งครรภ์ว่า ตนต้องการจะบวชเป็นภิกษุ ภรรยาได้ขอร้องว่า ให้รอจกกว่านางจะคลอดบุตรซึ่งอยู่ในท้องก่อน เมื่อทารกนั้นเติบโตพอเดินได้แล้ว เขาก็ได้ไปบอกกับภรรยาอีกครั้งหนึ่งว่าจะขอออกบวช  แต่นางได้ขอร้องเหมือนคราวก่อนว่า ให้รอจนกว่าบุตรเจริญวัยพอสมควรแล้วจึงค่อยบวช   พอถึงตอนนี้ธรรมิกอุบาสกมาคิดว่า จะมีประโยชน์อะไรกับการที่เราจะต้องขออนุญาตนางก่อนออกบวช เราจักทำการสลัดออกจากทุกข์แก่ตนเอง  เมื่อตัดสินใจแน่วแน่เช่นนี้แล้ว  เขาก็หนีออกจากบ้าน ไปบวชเป็นพระภิกษุ  ท่านเรียนพระกัมมัฏฐานจากพระศาสดาแล้วก็ไปปฏิบัติสมณธรรมอย่างมุ่งมั่นเอาจริงเอาจัง ในไม่ช้าก็ได้บรรลุพระอรหัตตผล

ต่อมาพระธรรมิกนี้ก็ได้ไปที่บ้านของท่าน เพื่อแสดงธรรมแก่บุตรชายและภรรยาเก่าของท่าน  บุตรชายของท่านได้เข้ามาบวชเป็นสามเณรและได้บรรลุพระอรหัตตผล  ภรรยาเก่าของท่านมีความคิดว่า ทั้งสามีและบุตรของเราต่างก็ออกบวชกันหมดแล้ว  เราก็ควรจะบวชบ้างจึงออกไปบวชเป็นภิกษุณี  ต่อมาไม่นานนางก็ได้บรรลุพระอรหัตตผล

อยู่มาวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายได้สนทนากันในโรงธรรมเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย  ธรรมิกอุบาสก ออกบวช  บรรลุพระอรหัตแล้ว  ทั้งได้เป็นที่พึ่งแก่บุตรและภรรยา  ก็เพราะความที่ตนตั้งอยู่ในธรรมพระศาสดาได้ตรัสกับภิกษุเหล่านั้นว่า ภิกษุทั้งหลาย  ธรรมดาว่าบัณฑิต ไม่พึงปรารถนาความสำเร็จทางด้านความมั่งคั่งและความไพบูลย์ เป็นต้น ไม่ว่าจะเพื่อตนหรือเพื่อคนอื่น แต่พึงเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม  มีธรรมเป็นที่พึ่งโดยแท้

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัส พระธรรมบท  พระคาถาที่ 84 ว่า

น อตฺตเหตุ น ปรสฺส เหตุ
น ปุตฺตมิจฺเฉ น ธนํ น รฏฺฐํ
น อิจเฉยฺย อธมฺเมน สมิทธิมตฺตโน
น สีลวา ปญฺญวา ธมฺมิโก สิยาฯ

บัณฑิตไม่ทำบาป เพราะเหตุแห่งตน
หรือเพราะเหตุแห่งคนอื่น
ไม่ปรารถนาบุตร ทรัพย์ และแว่นแคว้น โดยทางผิด
ไม่ปรารถนาความสำเร็จแห่งตนโดยไม่เป็นธรรม
ผู้เช่นนี้เป็นผู้มีศีล มีปัญญา และตั้งอยู่ในธรรม.



เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง  ชนเป็นอันมาก  ได้บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น.

---------------------------------------------------------------------------

10. เรื่องการฟังธรรม

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภการฟังธรรม  ตรัสพระธรรมบท  พระคาถาที่ 85 และพระคาถาที่ 86 นี้

ครั้งหนึ่ง ประชาชนชาวเมืองสาวัตถี ได้พร้อมเพรียงกันถวายทานแก่ภิกษุทั้งหลาย และได้จัดแจงให้ภิกษุแสดงธรรมตลอดคืนยังรุ่ง   แต่มีหลายคนไม่สามารถนั่งฟังธรรมตลอดคนได้ และได้เดินทางกลับบ้านเสียก่อน  มีบางคนเท่านั้นที่ฟังธรรมได้ตลอดคน แต่ส่วนใหญ่ก็ได้นั่งสับประหงก  ฟังธรรมไม่รู้เรื่อง  มีแค่ไม่กี่คนที่ตั้งใจฟังธรรม

ในวันรุ่งขึ้น พวกพระภิกษุนั่งสนทนากันในโรงธรรมถึงเรื่องนี้  พระศาสดาเมื่อทราบเรื่องที่พระภิกษุสนทนากันนั้นแล้ง จึงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย  คนส่วนใหญ่ยังยึดติดอยู่กับโลกนี้  จะมีส่วนน้อยเท่านั้นที่จะข้ามไปยังฝั่งโน้นคือพระนิพพานได้
จากนั้น พระศาสดาได้ตรัส พระธรรมบท พระคาถาที่ 85 และพระคาถาที่ 86 ว่า

อปฺปกา เต มนุสฺเสสุ
เย ชนา ปารคามิโน
อถายํ อิตรา ปชา
ตีรเมวานุธาวติฯ

ในหมู่มนุษย์ทั้งหลาย
ผู้ถึงฝั่ง(นิพพาน)ได้ มีน้อย
ส่วนคนนอกนี้
ได้แต่วิ่งเลาะฝั่งเท่านั้น.

เย จ โข สมฺมทกฺขาเต
ธมฺเม ธมฺมานุวตฺติโน
เต ชนา ปารเมสฺสนฺติ
มจฺจุเธยฺยํ  สุทุตฺตรํฯ

คนที่ประพฤติสมควรแก่ธรรม
ในธรรมที่เรากล่าวแล้วโดยชอบ
ก็จักข้ามบ่วงมฤตยูอันข้ามได้ยาก
จนถึงฟากฝั่งได้.

เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง  ชนเป็นอันมาก ได้บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย  มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น.

---------------------------------------------------------------------------

11.เรื่องภิกษุอาคันตุกะ

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภพวกภิกษุอาคันตุกะ  ตรัสพระธรรมบท  พระคาถาที่ 87  พระคาถาที่ 88 และพระคาถาที่ 89 นี้

ภิกษุประมาณ 500 รูป จำพรรษาอยู่ในแคว้นโกศล  ออกพรรษาแล้ว ปรึกษากันว่า จักเฝ้าพระศาสดาจึงไปยังพระเชตวัน  ถวายบังคมพระศาสดาแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่สุดข้างหนึ่ง  พระศาสดาทรงพิจารณาธรรมอันเป็นปฏิปักษ์แก่จริยาของพวกเธอ  พระศาสดาได้ตรัสสอนด้วย  พระธรรมบท 3 พระคาถาเหล่านี้ว่า

กณฺหํ ธมฺมํ วิปฺปหาย
สุกกํ ภาเวถ ปณฺฑิโต
โอกา อโนกมาคมฺม
วิเวเก ยตฺถ ทูรมํฯ

บัณฑิตออกจากบ้าน
มาสู่ความเป็นผู้ไร้บ้าน
ก็ควรจะละทิ้งธรรมดำ(อกุศลกรรมบถ 10)
มีความยินดีในวิเวก(นิพพาน)
ที่ยินดีได้ยากฯ

ตตฺราภิรติมิจฺเฉยฺย
หิตฺวา กาเม อกิญฺจโน
ปริโยทเปยฺย อตฺตานํ
จิตฺตเกฺลเสหิ ปณฺฑิโตฯ

บัณฑิตควรละกามสุขเสียให้ได้
เป็นผู้ไร้นิวรณ์
ชำระตนให้ผ่องแผ้ว
จากเครื่องเศร้าหมอง.
เยสํ สมฺโพธิยงฺเคสุ
สมฺมา จิตฺตํ สุภาวิตํ
อาทานปฏินิสฺสคฺเค
อนุปาทาย เย รตา
ขีณาสวา ชุติมนฺโต
เต โลเก ปรินิพฺพุตาฯ

ผู้มีจิตฝึกอบรมถูกต้องดีแล้ว
ในองค์ธรรมเครื่องตรัสรู้
ไม่มีความยึดมั่นถือมั่น
ยินดีในการสละความยึดมั่นถือมั่นเสียแล้ว
เป็นผู้มีอาวสะกิเลสสิ้นแล้ว
มีความรุ่งเรือง
บรรลุนิพพานในโลกนี้ได้แล้ว.

เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมากบรรลุโสดาปัตติผลเป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น