วันศุกร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2559

ธรรมบทรวมชุด : บทที่ 9 : ปาปวรรค



01. เรื่องพราหมณ์ชื่อจูเฬกสาฎก

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพราหมณ์ชื่อ จูเฬกสาฎก ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  อภิตฺถเรถ  กลฺยาเณ   เป็นต้น

ในเมืองสาวัตถี พราหมณ์ชื่อ จูเฬกสาฎก กับภรรยา มีฐานะยากจนมาก มีผ้านุ่งคนละผืน แต่มีผ้าห่มเพียงผืนเดียว เวลาจะออกไปนอกบ้าน  พราหมณ์และภรรยาต้องผลัดกันใช้ผ้าห่มผืนเดียวนั้น  วันหนึ่ง พราหมณ์ผู้สามี ไปฟังธรรมในสำนักของพระพุทธเจ้า มีศรัทธาอย่างยิ่งยวด อยากถวายผ้าห่มผืนเดียวนั้น เพื่อบูชาเป็นกัณฑ์เทศน์ แต่ความตระหนี่ได้เข้าขัดขวาง เป็นอย่างนี้ตลอดยามแรกและยามที่สอง พอถึงยามที่สามเขาก็สามารถเอาชนะความตระหนี่ได้ และได้ถวายผ้าห่มผืนเดียวกันนั้นแด่พระศาสดา พร้อมเปล่งอุทานออกมา 3 ครั้งว่า ชิตํ เม, ชิตํ เม, ชิตํ เม, แปลว่า เราชนะแล้ว เราชนะแล้ว  เราชนะแล้วพระเจ้าปสนทิโกศล ซึ่งประทับนั่งทรงธรรมอยู่ ณ ที่นั้นด้วย ทรงสดับคำเปล่งอุทานเช่นนั้น ก็รับสั่งให้เจ้าหน้าที่ไปสอบถาม เมื่อทรงทราบความจริงแล้ว ได้พระราชทานสิ่งของมากมายแก่พราหมณ์จูเฬกสาฎกนั้น พระภิกษุทั้งหลาย ประชุมกันกล่าวสรรเสริญพราหมณ์จูเฬกสาฎก พระศาสดาจึงตรัสว่า ถ้าพราหมณ์ได้บูชาพระศาสดาตั้งแต่ในตอนยามต้นๆ จะได้ทรัพย์ยิ่งขึ้นไปกว่านั้น แล้วจึงตรัสพระธรรมบทพระคาถานี้ว่า

อภิตฺถเรถ กลฺยาเณ
ปาปา จิตฺตํ นิวารเย
ทนฺธํ หิ กรโต ปุญญํ
ปาปสฺมึ รมตี มโนฯ

ท่านทั้งหลาย จงรีบขวนขวายในความดี
จงห้ามจิตเสียจากความชั่ว
เพราะเมื่อทำความดีช้า
ใจจะยินดีในความชั่วเสียก่อน.

เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก ได้บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.

--------------------------------------------------------------------------------------

02. เรื่องพระเสยยสกัตถเถระ

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระเสยยสกัตถเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  ปาปญฺเจ ปุริโส  กยิรา  เป็นต้น

พระเสยยสกัตถเถระ เป็นสัทธิวิหาริกของพระโลฬุทายีเถระ  มีความกำหนัดในอารมณ์ทางเทศ  เมื่อไปบอกเรื่องนี้กับพระโลฬุทายีผู้เป็นอุปัชฌาย์  พระอุปัชฌาย์ได้บอกวิธีคลายกำหนัด ด้วยการใช้มือสำเร็จความใคร่ให้แก่ตนเอง พระพุทธเจ้าทรงทราบเรื่อง รับสั่งให้เรียกพระเสยยสกัตถเถระมาเฝ้า แล้วทรงติเตียนโดยประการต่างๆ ทรงบัญญัติสิกขาบทแห่งปฐมสังฆาทิเสส และได้ตรัสว่า  ก็กรรมเห็นปานนี้ เป็นกรรมยังสัตว์ให้เป็นไปเพื่อทุกข์อย่างเดียว  ทั้งในภพนี้และภพหน้า  จึงตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า

ปาปญฺเจ  ปุริโส  กยิรา
น ตํ  กยิรา  ปุนปฺปุนํ
น ตมฺหิ ฉนฺทํ กยิราถ
ทุกฺโข ปาปสฺสฺส อุจฺจโยฯ

หากบุคคลจะทำความชั่ว
ก็อย่าทำความชั่วนั้นบ่อยๆ
ไม่ควรทำความพอใจในความชั่วนั้น
เพราะการสั่งสมความชั่ว
เป็นเหตุให้เกิดทุกข์.

เมื่อพระธรรมเทศนานี้จบลง  ชนเป็นอันมาก ได้บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.


--------------------------------------------------------------------------------------



03. เรื่องนางลาชเทวธิดา

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภนางลาชธิดา ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า   ปุญญญฺเจ  ปุริโส  กยิรา  เป็นต้น


มีหญิงชาวนาเข็ญใจผู้หนึ่ง ถวายข้าวตอกแก่พระมหากัสสปะที่เพิ่งออกจากฌานสมาบัติ  หลังถวายข้าวตอกแล้วได้ทำความปรารถนาว่า  ท่านเจ้าข้า  ขอดิฉันพึงเป็นผู้มีส่วนแห่งธรรมที่ท่านเห็นแล้วพระเถระได้กล่าวอนุโมทนาว่า ความปรารถนาอย่างนั้น  จงสำเร็จ  นางไหว้พระเถระแล้วนึกถึงทานที่ตนถวายหันหลังเดินกลับมา  ในระหว่างที่นางเดินมาบนคันนาเพื่อกลับมาที่กระท่อมนั้น  นางถูกงูพิษกัดตาย ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์  อยู่ในวิมานทอง  ประมาณ  30 โยชน์  มีร่างกายประมาณ 3  คาวุต(ประมาณ 100 เส้น)เพราะอานิสงส์ถวายข้าวตอกเป็นทานด้วยศรัทธา นางจึงได้ชื่อว่าลาชเทวธิดา(เทวธิดาข้าวตอก) นางต้องการจะเพิ่มพูนบุญกุศลให้แก่ตน ได้ลงจากสวรรค์มาเก็บกวาดบริเวณที่พักของพระมหากัสสปเถระในตอนเช้าๆ ถูกพระเถระห้ามปรามไม่ให้ทำ เพราะเกรงว่าคนจะนำไปติเตียนได้ นางเทวธิดาเสียใจร้องไห้ที่ถูกขัดขวางมิให้ทำความดี พระพุทธเจ้าทอดพระเนตรเห็นด้วยพระเนตรทิพย์ ได้เนรมิตพระวรกายไปปรากฏประหนึ่งว่าอยู่เบื้องหน้าของนาง แล้วรับสั่งกับนางว่า ความสำรวมระวังเป็นหน้าที่ของกัสสปะ การกระทำบุญเป็นหน้าที่ของผู้ต้องการบุญ การกระทำบุญเป็นสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า

จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า

ปุญญญฺเจ  ปุริโส  กยิรา
กยิราเถนํ ปุนปฺปุนํ
ตมฺหิ  ฉนฺทํ   กยิราถ
สุโข   ปุญฺญสฺส   อุจฺจโย.

หากบุคคลจะทำบุญ
ก็ควรทำบุญนั้นบ่อยๆ
ควรทำความพอใจในบุญนั้น
เพราะการสั่งสมบุญ
เป็นเหตุให้เกิดสุข.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง นางเทวธิดานั้น ซึ่งยืนอยู่ห่างไกลออกไปถึง 45 โยชน์ ได้บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว.

--------------------------------------------------------------------------------------



04. เรื่องอนาถบิณฑิกเศรษฐี

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภเศรษฐีชื่ออนาถบิณฑิกะ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  ปาโปปิ  ปสฺสตี  ภทฺรํ  เป็นต้น

อนาถบิณฑิกเศรษฐี บำรุงพระภิกษุสามเณรอยู่เนืองนิตย์  กระทั่งทรัพย์สมบัติร่อยหรอ เทวดาที่ประจำอยู่ที่ซุ้มประตูบ้านของเศรษฐีทนไม่ไหว ไปเตือนเศรษฐีให้เลิกทำบุญให้ทานเสียที แต่เศรษฐีไม่ยอมเลิก ยังทำบุญให้ทานแก่พระภิกษุและสามเณรต่อไป  และได้ขับไล่เทวดาไม่ให้อยู่ในที่นั้น เทวดารู้สึกสำนึกตน จึงไปหาเทวดาทั้งหลาย จนกระทั่งไปหาท้าวสักกเทวราช วิงวอนให้ช่วยไปขอขมาโทษเศรษฐี  ท้าวสักกะจึงออกอุบายว่า ให้นำทรัพย์ที่หาเจ้าของมิได้ไปให้เศรษฐีแล้วขอขมาโทษ  เทวดานั้นก็ได้ทำตาม เมื่อเศรษฐีจะรับขมาโทษ จึงนำเทวดานั้นไปเข้าเฝ้า พระศาสดาจึงประทานโอวาทสอนเศรษฐีและเทวดาว่า ดูก่อนคฤหบดี   แม้บุคคลผู้ทำบาปในโลกนี้  ย่อมเห็นบาปว่าดี  ตลอดกาลที่บาปยังไม่เผล็ดผล  แต่เมื่อใด  บาปของเขาเผล็ดผล  เมื่อนั้น  เขาย่อมเห็นบาปว่าชั่วแท้ๆ  ฝ่ายบุคคลผู้กระทำกรรมดี  ย่อมเห็นกรรมดีว่าชั่ว  ตลอดกาลที่กรรมดียังไม่เผล็ดผล  แต่เมื่อใด  กรรมดีของเขาเผล็ดผล  เมื่อนั้น  เขาย่อมเห็นกรรมดีว่าดีจริงๆแล้วจึงตรัสพระธรรมบท  2 พระคาถานี้ว่า

ปาโปปิ ปสฺสตี ภทฺรํ
ยาว ปาปํ น ปจฺจติ
ยทา จ ปจฺจตี ปาปํ
อถ (ปาโป) ปาปานิ ปสฺสติฯ

ตลอดเวลาที่บาปยังไม่ให้ผล
คนชั่วเห็นบาปเป็นความดี
แต่เมื่อใดบาปให้ผล
เมื่อนั้นเขาเห็นบาปเป็นความชั่ว.

ภทฺโรปิ   ปสฺสตี   ปาปํ
ยาว   ภทฺรํ      ปจฺจติ
ยทา     ปจฺจตี   ภทฺรํ
อถ  (ภทฺโร)  ภทฺรานิ  ปสฺสติฯ

ตลอดเวลาที่ความดียังไม่ให้ผล
คนดีเห็นบาปเป็นความชั่ว
แต่เมื่อใดบาปให้ผล
เมื่อนั้นเขาเห็นความดีเป็นความดี.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง  เทวดานั้น ได้บรรลุโสดาปัตติผล พระธรรมเทศนา ได้มีประโยชน์แม้แก่พุทธบริษัทที่มาประชุมกันแล้ว.


--------------------------------------------------------------------------------------



05. เรื่องภิกษุไม่ถนอมบริขาร

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภภิกษุรูปหนึ่ง ผู้ไม่ถนอมบริขาร ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  มาวมญฺเญถ  ปาปสฺส  เป็นต้น

พระภิกษุรูปหนึ่งใช้บริขารต่างๆมีเตียงและตั่งเป็นต้น แล้วไม่เก็บงำให้เรียบร้อย ทอดทิ้งไว้ในที่นั้นๆ พระภิกษุอื่นๆเตือนกลับพูดโยกโย้ว่า เป็นเรื่องเล็กน้อยจะเป็นอะไรไป  จิตใจของบริขารนั้นก็ไม่มี พระศาสดาทรงทราบ รับสั่งให้หาตัวมาเข้าเฝ้า ประทานคำสั่งสอนว่า   อันภิกษุทั้งหลายทำอย่างนั้นย่อมไม่ควร  ขึ้นชื่อว่าบาปกรรม  ใครๆไม่ควรดูหมิ่นว่า นิดหน่อย  เหมือนอย่างว่า  ภาชนะที่เขาเปิดปากตั้งไว้กลางแจ้ง  เมื่อฝนตกอยู่บ่อยๆ  ภาชนะนั้นย่อมเต็มได้แน่ๆ ฉันใด  บุคคลผู้ทำกรรมอยู่  ย่อมทำกองบาปให้ใหญ่โตขึ้นโดยลำดับได้อย่างแน่ๆ ฉันนั้นเหมือนกัน

จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า

มาวมญฺเญถ ปาปสฺส
น มตฺตํ อาคมิสฺสติ
อุทพินทุนิปาเตน
อุทกุมฺโภปิ ปูรติ
ปูรติ พาโล ปาปสฺส
โภกํ โถกํปิ อาจินํฯ

อย่าดูหมิ่นบาปว่า
เพียงเล็กน้อย จักไม่มาถึง
แม้แต่หม้อน้ำยังเต็มด้วยหยดน้ำ
ที่ตกลงมาไม่ขาดสายได้ ฉันใด
คนพาลสั่งสมบาป แม้ทีละน้อยๆ
ก็จะเต็มด้วยบาป ฉันนั้น.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง  ชนเป็นอันมาก บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น

แม้พระศาสดาก็ได้ทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุลาดที่นอน(ของสงฆ์)ไว้ในที่แจ้งแล้ว ไม่เก็บไว้ตามเดิม ต้องอาบัติชื่อนี้.



--------------------------------------------------------------------------------------



06. เรื่องเศรษฐีชื่อพิฬาลปทกะ

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภเศรษฐีชื่อพิฬาลปทกะ(เศรษฐีตีนแมว) ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  มาวมญฺเญถ  ปุญฺญสฺส  เป็นต้น

บัณฑิตผู้หนึ่ง ได้ฟังพระพุทธดำรัสเรื่องอานิสงส์ของทานแล้ว เกิดความเลื่อมใส ใคร่จะปฏิบัติตาม ได้ชักชวนชาวบ้านทั้งหมู่บ้านมาร่วมกันถวายอาหารบิณฑบาตแด่พระพุทธเจ้าและหมู่ภิกษุสงฆ์ ตามแต่กำลังศรัทธาของตนๆ เมื่อบัณฑิตออกไปรับสิ่งของบริจาคจากชาวบ้าน ได้พบกับเศรษฐีผู้หนึ่ง เศรษฐีผู้นี้เห็นบัณฑิตมารับของบริจาคที่ย่านตลาดของตน เห็นว่าเขาทำไม่ถูกต้อง เพราะเมื่อจะทำบุญก็ควรทำแต่โดยลำพัง ไม่ควรมาสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่นด้วยการออกเรี่ยไรสิ่งของอย่างนี้  จึงได้ประชดประชันด้วยการบริจาคสิ่งของอย่างละเล็กละน้อย(หยิบสิ่งของพร่องเท่ากับตีนแมว) แต่ครั้นบริจาคสิ่งของไปแล้ว ก็กลัวว่าบัณฑิตนั้นจะเอาไปพูดในทางไม่ดี อันจะก่อความเสียหายแก่เกียรติภูมิของตน จึงได้พกพาอาวุธไปในสถานที่รวบรวมทานบริจาค คิดในใจว่า หากบัณฑิตพูดไม่ดี ก็จะใช้อาวุธสังหารเสียให้ตาย พอถึงเวลากล่าวอนุโมทนาทานเข้าจริงๆ บัณฑิตผู้ใจบุญนั้นกลับกล่าวอนุโมทนาแบ่งบุญแก่ทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่แยกแยะว่าใครให้น้อยใครให้มาก เศรษฐีนั้นนึกละอายใจ ได้เข้าไปขอขมาโทษบัณฑิตใจบุญนั้น พระพุทธเจ้าทรงทราบเรื่อง จึงได้ตรัสถึงคุณค่าของทานกับเศรษฐีว่า อุบาสก  ขึ้นชื่อว่าบุญ  ใครๆไม่ควรดูหมิ่นว่า นิดหน่อย  อันบุคคลถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเช่นเราเป็นประธานแล้ว  ไม่ควรดูหมิ่นว่า เป็นของนิดหน่อย   ด้วยว่า บุรุษผู้บัณฑิต  ทำบุญอยู่  ย่อมเต็มไปด้วยบุญโดยลำดับแน่แท้  เปรียบเหมือนภาชนะที่เขาเปิดปากตั้งไว้กลางแจ้ง  เมื่อฝนตกอยู่บ่อยๆ  ภาชนะนั้นย่อมเต็มไปด้วยน้ำ ฉะนั้น  และได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า

มาวมญฺเญถ ปุญฺญสฺส
น มตฺตํ อาคมิสฺสติ
อุทพินทุนิปาเตน
อุทกุมฺโภปิ ปูรติ
ธีโร ปูรติ ปุญญสฺส
โถกํ โถกํปิ อาจินํฯ

อย่าดูหมิ่นบุญว่า
เพียงเล็กน้อย จักไม่มาถึง
แม้แต่หม้อน้ำยังเต็มด้วยหยดน้ำ
ที่ตกลงมาไม่ขาดสายได้ ฉันใด
นักปราชญ์สั่งสมบุญ แม้ทีละน้อยๆ
ก็จะเต็มเปี่ยมด้วยบุญ ฉันนั้น.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง เศรษฐีผู้นั้นบรรลุโสดาปัตติผลแล้ว พระธรรมเทศนา ได้มีประโยชน์แม้แก่พุทธบริษัทที่มาประชุมกัน.


--------------------------------------------------------------------------------------



07. เรื่องมหาธนวาณิช

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตะวัน   ทรงปรารภพ่อค้ามีทรัพย์มาก  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า
วาณิโชว  ภยํ  มคฺคํ   เป็นต้น

ที่กรุงสาวัตถี  มีพ่อค้าที่ร่ำรวยมากผู้หนึ่งชื่อ  มหาธนเศรษฐี  และพวกโจรห้าร้อยก็ได้วางแผนที่จะปล้นท่านมหาธนเศรษฐีนี้  แต่ยังไม่สบโอกาสเสียที  ในระหว่างนั้นเอง  ท่านเศรษฐีได้เตรียมกองคาราวานเกวียนจำนวนห้าร้อยเล่มบรรทุกสินค้าจะไปค้าขายต่างเมือง  พวกโจรห้าร้อยกลุ่มเดียวกันนี้จึงได้วางแผนเพื่อจะปล้นท่านเศรษฐีในระหว่างการเดินทาง   แต่ก่อนจะออกเดินทางท่านเศรษฐีได้นิมนต์พระภิกษุสงฆ์จำนวนห้าร้อยรูปให้ร่วมเดินทางไปกับขบวนกองคาราวานเกวียนของท่านด้วย  ซึ่งท่านเศรษฐีได้ปวารณาว่าจะถวายปัจจัยสี่แด่พระภิกษุทั้งหลายที่จะร่วมเดินทางไปในคราวนี้ด้วย   ข้างพวกโจรห้าร้อยเมื่อได้ข่าวการเดินทางของกองคาราวานเกวียนของท่านเศรษฐีก็ได้ไปวางกำลังกองโจรดักรอปล้นอยู่ตามจุดต่างๆของเส้นทางที่กองคาราวานจะเดินทางผ่าน  ท่านเศรษฐีมีสายการข่าวที่ดีมาก โดยท่านทราบข่าวเรื่องโจรดักปล้นในระหว่างทางเป็นระยะๆจากเพื่อนของท่านผู้หนึ่งซึ่งทำหน้าที่เป็นสายสืบคอยแจ้งเบาะแสของโจรให้ท่านได้ทราบทุกระยะ  เมื่อท่านเศรษฐีเห็นว่าหากท่านขืนนำกองคาราวานเกวียนบรรทุกสินค้าเดินทางต่อไปก็จะเป็นอันตรายไม่แคล้วถูกโจรปล้นแน่ๆ   ท่านจึงเปลี่ยนใจที่จะพักกองเกวียนอยู่ที่ชายป่าเป็นกาลชั่วคราวเพื่อรอจังหวะให้ปลอดภัยจากพวกโจรเสียก่อนจึงจะเดินทางต่อไป  และท่านได้แจ้งให้พระภิกษุสงฆ์จำนวนห้าร้อยรูปที่ร่วมเดินทางให้ได้ทราบถึงการตัดสินใจของท่านในครั้งนี้    พร้อมกับกล่าวว่า  พระภิกษุรูปใดต้องการจะพักอยู่กับกองคาราวานเกวียนต่อไปก็สามารถอยู่ได้ หรือว่าเห็นว่าไม่สะดวกจะเดินทางกลับไปที่กรุงสาวัตถีก็ได้   พวกภิกษุสงฆ์ทั้งหมดได้ตัดสินใจเดินทางกลับกรุงสาวัตถี  เมื่อเดินทางกลับไปแล้วก็ได้เข้าเฝ้าพระศาสดาที่วัดพระเชตวัน  เมื่อพระศาสดาตรัสถามถึงสาเหตุของการไม่ไปกับกองคาราวานเกวียนของท่านเศรษฐี   พระภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ที่เดินทางกลับก็เพราะมีโจรดักปล้นอยู่กลางทาง ท่านเศรษฐีจึงพักกองเกวียนอยู่ที่ชายป่าไม่ยอมเดินทางต่อไป   พระศาสดาจึงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย  พ่อค้าผู้มีทรัพย์มาก  ย่อมเว้นทางที่มีภัย  เพราะความที่พวกโจรมีอยู่  บุรุษแม้ใคร่จะมีชีวิตอยู่  ย่อมเว้นยาพิษอันร้ายแรง  แม้ภิกษุก็เช่นเดียวกันเมื่อทราบว่า ภพ  3 (กามภพ  รูปภพ  และอรูปภพ) เป็นเช่นกับหนทางที่พวกโจรซุ่มอยู่แล้ว  ก็ควรที่จะเว้นกรรมชั่วเสีย

จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า

วาณิโชว   ภยํ  มคฺคํ             
อปฺปสตฺโถ   มหทฺธโน
วิสํ  ชิวิตุกาโมว    
ปาปานิ  ปริวชฺชเยฯ

บุคคลพึงเว้นกรรมชั่วทั้งหลายเสีย 
เหมือนพ่อค้ามีทรัพย์มาก  มีพวกน้อย  เว้นทางอันพึงกลัว
และเหมือนผู้ต้องการจะมีชีวิตอยู่  เว้นยาพิษเสีย  ฉะนั้น.

เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง   ภิกษุเหล่านั้น  บรรลุพระอรหัตตผล   พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย  พระธรรมเทศนา  ได้เป็นประโยชน์แม้แก่มหาชนผู้มาประชุมกัน.
-----------------------------------------------------------------

08.  เรื่องนายพรานกุกกุฏมิตร

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน   ทรงปรารภนายพรานชื่อกุกกุฏมิตร  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า
ปาณิมฺหิ  เจ  วโณ   นาสฺส  เป็นต้น

ที่กรุงราชคฤห์  มีบุตรสาวเศรษฐีผู้หนึ่งได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันตั้งแต่ยังอยู่ในวัยสาวรุ่น  อยู่มาวันหนึ่ง  นายพรานผู้หนึ่งชื่อกุกกุฏมิตร ได้ขับเกวียนบรรทุกเนื้อสัตว์มาขายในเมือง  บุตรสาวของเศรษฐียืนอยู่บนปราสาท  7 ชั้น แลเห็นนายพรานกุกกุมิตรก็เกิดนึกรักขึ้นมาในฉับพลันในลักษณะรักแรกพบเพราะเคยทำบุญร่วมกันมาแต่ชาติปางก่อน  นางได้หอบผ้าหอบผ่อนลงจากปราสาทเดินติดตามไปอยู่กับนายพรานที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง  จากการอยู่กินกันทำให้เกิดผลิตผลของความรักเป็นบุตรชายถึง  7 คน  เมื่อบุตรทั้ง 7 คนเจริญวัยก็ได้แต่งงานกับหญิงที่มีฐานะเท่าเทียมกัน

อยู่มาวันหนึ่ง  พระศาสดาทรงตรวจดูสัตวโลกเวลาใกล้รุ่ง  ทรงเห็นพรานกุกกุฏมิตรกับบุตรและสะใภ้ เข้าไปในข่ายคือพระญาณของพระองค์   ทรงใคร่ครวญแล้วก็ทรงทราบว่า   คนเหล่านั้นจะได้บรรลุโสดาปัตติผล จึงทรงถือบาตรและจีวรเสด็จไปยังที่ดักบ่วงของนายพรานนั้นแต่เช้าตรู่   ปรากฏว่าวันนั้นไม่มีสัตว์ตัวใดติดบ่วงเลย  พระศาสดาได้ทรงเหยียบรอยพระบาทไว้ที่ใกล้บ่วงของนายพราน แล้วประทับนั่งใต้ร่มพุ่มไม้พุ่มหนึ่งไม่ไกลจากนั้น  นายพรานกุกกุฏมิตรถือธนูไปยังที่ดักบ่วงแต่เช้า  ตรวจดูบ่วงที่ดักไว้  ไม่เห็นสัตว์แม้แต่ตัวเดียวติดบ่วง  เห็นแต่รอยพระบาทที่พระศาสดาประทับไว้นั้น  ก็เข้าใจว่าเจ้าของรอยเท้าคือคนที่ปล่อยสัตว์ออกจากบ่วง  จึงเดินตามไปพบพระศาสดาประทับนั่งอยู่ที่โคนพุ่มไม้ คิดว่า  สมณะองค์นี้ปล่อยเนื้อของเรา  เราจะฆ่าสมณะนั้นเสีย  ก็นำลูกธนูใส่แล่งโก่งธนูจะยิง  พระศาสดาได้ทรงแสดงพุทธานุภาพเกิดเป็นปาฏิหาริย์ โดยทรงยอมให้นายพรานกุกกุมิตรโก่งธนูได้  แต่ไม่ทรงยอมให้ลูกธนูแล่นออกมาจากแล่ง   (ภาษาบาลีที่ใช้บรรยายเหตุการณ์ช่วงนี้ใช้ว่า สัตถา  ธะนุง   อากัฑฒิตุง  ทัตวา  วิสัชเชสุง  นาทาสิ  ซึ่งประโยคบาลีนี้ พวกนักคาถาอาคมได้นำไปใช้พร่ำภาวนาเพื่อเป็นคาถาคงกระพันชาตรีป้องกันอาวุธทุกชนิดจวบจนกระทั่งปัจจุบัน)  นายพรานพบกับปาฏิหาริย์ของพุทธ่นุภาพถึงกับตัวแข็งทื่ออยู่ในอิริยาบถยืนน้าวธนูไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ พวกบุตรทั้ง  7 คนเห็นบิดาไม่กลับบ้านก็เที่ยวตามหา   ก็ได้ไปพบบิดายืนตัวแข็งทื่ออยู่อย่างนั้นและเห็นพระศาสดาก็เข้าใจว่าเป็นศัตรูของบิดาแน่ๆ  แต่ละคนจึงนำลูกธนูสอดเข้าแล่งแล้วโก่งธนูจะยิง  แต่ก็เกิดปาฏิหาริย์ด้วยพุทธานุภาพทำให้ทุกคนเกิดการจังงังอยู่ในอิริยาบถตัวแข็งทื่อเคลื่อนไหวไม่ได้เหมือนกับบิดา  เมื่อภรรยาของนายพรานไม่เห็นสามีและบุตรชายกลับบ้านก็ได้เดินตามหาพร้อมด้วยสะใภ้ทั้ง  7 มาพบคนทั้งแปดคนตัวแข็งทื่อยืนน้าวธนูเล็งเป้าไปที่พระศาสดาเช่นนั้น  ก็ร้องขึ้นว่า พวกท่านอย่าฆ่าบิดาของเรา ๆพอนายพรานกุกกุฏมิตรได้ยินเช่นนั้น  ก็เข้าใจว่า คนที่เขาจะยิงนั้นคือพ่อตาของเขาเอง  ส่วนพวกลูกชายทั้งเจ็ดคนก็เข้าใจว่าผู้ที่เขาจะยิงคือตาของพวกเขา  ดังนั้นเมตตาจิตจึงบังเกิดแก่นายพรานและบุตรทั้งเจ็ดคนนั้น  ภรรยานายพรานจึงกล่าวขึ้นว่า  พวกเจ้าจงทิ้งธนูเสียโดยเร็วแล้วขอโทษบิดาของฉัน  เมื่อคนเหล่านั้นวางธนูและเข้าไปถวายบังคมขอขมาลาโทษแล้ว  พระศาสดาได้แสดงอนุปุพพิกถาโปรด  เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง  นายพรานกุกกุฎมิตรพร้อมทั้งบุตรและสะใภ้ซึ่งมีจำนวนรวมกัน 15 คนก็ได้สำเร็จพระโสดาปัตติผล

จากนั้น  พระศาสดาได้เสด็จพุทธดำเนินกลับพระเวฬุวัน  และได้ตรัสบอกพระอานนท์และพระภิกษุอื่นๆว่า  พระองค์เพิ่งกลับมาจากการเสด็จไปโปรดนายพรานกุกกุฏมิตรและครอบครัวจนทำให้ทุกคนได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน  พวกภิกษุทั้งหลายกราบทูลถามว่า  ภรรยาของนายพรานกุกกุฏมิตร เป็นพระโสดาบัน  แม้ว่าจะไม่มีเจตนาฆ่าสัตว์ด้วยตัวเองก็จริง  แต่ก็เป็นผู้ส่งข่าย  คันธนู  และลูกธนูให้แก่สามีที่จะออกไปล่าสัตว์  อย่างนี้จะมิถือว่าพระโสดาบันกระทำปาณาติบาตละหรือ?”  พระศาสดาตรัสตอบว่า  ภิกษุทั้งหลาย  พระโสดาบันย่อมไม่ทำปาณาติบาต  ที่นางทำอย่างนั้น ด้วยแค่คิดว่า  เราจักทำตามคำของสามี  จิตของนางไม่มีเลยว่า  สามีนั้นจงถือเอาเครื่องประหารนี้ไปทำปาณาติบาต  จริงอยู่  เมื่อแผลในฝ่ามือไม่มี  ยาพิษนั้นก็ไม่อาจจะให้โทษแก่ผู้ถือยาพิษได้  ฉันใด  ชื่อว่าบาปบ่อมไม่มีแก่ผู้ไม่ทำบาป  แม้นำเครื่องประหารทั้งหลายมีธนูเป็นต้นออกให้  เพราะไม่มีอกุศลเจตนา  ฉันนั้นเหมือนกัน

จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า

ปาณิมฺหิ   เจ  วโณ   นาสฺส   
หเรยฺย   ปาณินา  วิสํ
นาพฺพณํ   วิสมนฺเวติ                            
นตฺถิ   ปาปํ   อกุพฺพโตฯ

ถ้าแผลไม่พึงมีในฝ่ามือไซร้
บุคคลพึงนำยาพิษไปด้วยฝ่ามือได้
เพราะยาพิษย่อมไม่ซึมเข้าไปสู่ฝ่ามือที่มีมีแผล  ฉันใด
บาปย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่ทำอยู่  ฉันนั้น.

เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง   ชนเป็นอันมาก  บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.

-------------------------------------------------

09.เรื่องนายพรานสุนัขชื่อโกกะ

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน   ทรงปรารภนายพรานชื่อว่าโกกะ  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า
โย  อปฺปทุฏฺฐสฺส  นรสฺส  ทุสฺสติ  เป็นต้น

เช้าวันหนึ่ง  นายพรานชื่อโกกะ พร้อมด้วยสุนัขล่าสัตว์ฝูงหนึ่งจะออกไปล่าสัตว์  ได้ไปพบพระภิกษุรูปหนึ่งกำลังเดินสวนทางเข้าเมืองเพื่อจะบิณฑบาต   พอเห็นพระภิกษุเท่านั้นนายพรานโกกะก็คิดว่าเป็นลางไม่ดีและพึมพำกับตัวเองว่า  วันนี้เราพบคนกาลกัณณีเข้าแล้ว  เห็นทีเที่ยวนี้เราจะไม่ได้สิ่งใดแน่ ๆ  คิดพลางเดินเข้าป่าไป  เมื่อนายพรานโกกะเข้าป่าไปก็ไม่ได้อะไรเหมือนที่คิดไว้แต่แรก  พอกลับมาเจอพระภิกษุรูปเดียวกันนั้นอีกในขณะที่ท่านเดินกลับวัด  ก็ได้เข้าไปต่อว่าต่อขานพระว่า  ที่เขาเข้าป่าไปล่าสัตว์แต่ไม่ได้อะไรสักอย่างกลับออกมาเช่นนี้ก็เพราะพระเป็นต้นเหตุ  นายพรานโกกะจึงส่งสัญญาณให้สุนัขให้เข้ารุมกัดพระ  ฝ่ายพระพยายามร้องห้ามแต่นายพรานโกกะก็ไม่ฟังความ  พระเห็นท่าไม่ดีก็เลยรีบปีนขึ้นต้นไม้เพื่อให้รอดพ้นจากการถูกรุมกัดของสุนัข   นายพรานโกกะได้เดินไปที่ใต้ต้นไม้ต้นนั้น แล้วใช้ลูกธนูทิ่มแทงที่เท้าของพระภิกษุเพื่อให้ลงจากต้นไม้  พระพยายามยกเท้าสลับข้างไปมาเพื่อหนีจากการถูกทิ่มแทงด้วยลูกธนูเป็นพัลวัน  จนจีวรพลัดหลุดออกจากายของพระ ตกลงมาคลุมที่ร่างกายของนายพรานโกกะที่ยืนอยู่ใต้ต้นไม้  พวกสุนัขเข้าใจผิดคิดว่าพระตกลงมาจากต้นไม้จึงรุมกันจนคนที่จีวรคลุมตัวอยู่นั้นซึ่งก็คือนายพรานโกกะเสียชีวิตและช่วยกันแทะกินเหลืออยู่เพียงกระดูก  พอถึงตอนนี้ พระจึงหักกิ่งไม้แห้งกิ่งหนึ่งขว้างสุนัขเหล่านั้น  พอพวกสุนัขเห็นพระก็เลยรู้ว่า พวกมันกัดกินเจ้านายของมันเสียแล้ว จึงหลบหนีเข้าป่าไป  ส่วนพระเกิดความสงสัยว่า  นายพรานเข้าไปอยู่ในจีวรของเราแล้วถูกสุนัขกัดตายเช่นนี้  ศีลของเราจะด่างพร้อยหรือไม่ ?”  พอลงจากต้นไม้ก็เดินทางไปสู่สำนักของพระศาสดา  กราบทูลเรื่องราวที่เกิดขึ้น และทูลถามว่า  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  อุบาสกนั้น   อาศัยจีวรของข้าพระองค์จนเสียชีวิตไปแล้ว  ศีลของข้าพระองค์จะด่างพร้อยหรือไม่?”  

พระศาสดาตรัสตอบว่า  ภิกษุ  ศีลของเธอไม่ด่างพร้อย  สมณภาพของเธอยังมีอยู่  เขาประทุษร้าย ต่อเธอผู้ไม่ประทุษร้าย จึงถึงความพินาศ  ทั้งนี้มิใช่แต่ในบัดนี้อย่างเดียวเท่านั้น  แม้ในอดีตกาล  เขาก็ประทุษร้ายต่อผู้ไม่ประทุษร้ายทั้งหลาย ถึงความพินาศแล้วเหมือนกันและได้ทรงนำเรื่องในอดีตมาเล่าว่า  นายพรานโกกะผู้นี้ในอดีตชาติเคยเกิดเป็นนายแพทย์  วันหนึ่งเดินตระเวนไปตามหมู่บ้านต่างๆ  แต่หาคนไข้รักษาไม่ได้  ถูกความหิวโหยครอบงำ ไปพบพวกเด็กๆกำลังเล่นกันอยู่ที่ประตูบ้านหลังหนึ่ง  จึงคิดอุบายจะให้งูกัดเด็กเหล่านั้น จากนั้นตนก็จะทำการรักษาเด็กที่ถูกงูกัดนั้น แล้วนำเงินค่ารักษาไปซื้ออาหารรับประทาน  นายแพทย์จึงได้นำงูไปไว้ในโพลงไม้แล้วหลอกพวกเด็กๆว่าในโพลงไม้มีลูกนกสาลิกา  เด็กคนหนึ่งหลงกลปีนขึ้นต้นไม้ เอามือล้วงเข้าไปในโพลงไม้  พอรู้ว่าเป็นงูไม่ใช่ลูกนกสาลิกา  ได้สลัดงูออกออกจากมือตกลงมาถูกที่ศีรษะของนายแพทย์ซึ่งยืนอยู่ไม่ไกล  งูรัดคอของนายแพทย์แล้วกัดอย่างแรงจนนายแพทย์ถึงแก่ความตาย  นายแพทย์ ที่เคยประทุษร้ายต่อคนผู้ไม่ประทุษร้ายแล้วถึงความพินาศในครั้งนั้น ก็คือนายโกกะพรานสุนัขในบัดนี้นี่เอง.

เมื่อพระศาสดาทรงนำอดีตนิทานนี้มาเล่าแล้ว จึงตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า

โย  อปฺปทุฏฺฐสฺส  นรสฺส  ทุสฺสติ
สุทธสฺส  โปสสฺส  อนงฺคณสฺส
ตเมว   พาลํ  ปจฺเจติ  ปาปํ
สุขุโม  รโช  ปฏิวาตํว  ขิตฺโตฯ

ผู้ใด  ประทุษร้ายต่อนรชนผู้ไม่ประทุษร้าย
ผู้บริสุทธิ์  ไม่มีกิเลส 
บาปย่อมกลับถึงผู้นั้น  ซึ่งเป็นคนพาลนั้นเอง
เหมือนธุลีอันละเอียดที่เขาซัดทวนลมไป ฉะนั้น.

เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง   ภิกษุนั้น  ดำรงอยู่ในพระอรหัตตผล   พระธรรมเทศนา ได้มีประโยชน์แม้แก่พุทธบริษัทผู้มาประชุมกัน.

 

--------------------------------------------------------------------------------------



10.เรื่องพระติสสเถระผู้เข้าถึงสกุลนายช่างแก้ว

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภพระเถระชื่อติสสะ ผู้เข้าถึงสกุลช่างแก้ว(ใกล้ชิดกับสกุลช่างเจียรไนอัญมณี)  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า   คพฺภเมเก  อุปฺปชฺชนฺติ   เป็นต้น

ในกาลครั้งหนึ่ง  ที่กรุงสาวัตถี มีนายช่างเจียระไนอัญมณีและภรรยาพักอาศัยอยู่ที่บ้านหลังหนึ่ง  และมีพระเถระรูปหนึ่งเป็นพระอหันต์  ได้เข้าไปรับอาหารบิณฑบาตจากสองสามีภรรยาเป็นประจำ   อยู่มาวันหนึ่ง  ขณะที่นายช่างกำลังหั่นเนื้ออยู่นั้น  ก็มีคนจากวังของพระเจ้าปเสนทิโกศลมาที่บ้านของนายช่าง  พร้อมกับนำแก้วมณีก้อนหนึ่งมาส่งให้ แล้วบอกว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงมีรับสั่งให้เจียรไนให้แล้วเสร็จแล้วส่งกลับไปถวาย  นายช่างนำมือที่เปื้อนเลือดเนื้อสดๆออกรับแก้วมณีของพระราชาและนำไปวางไว้บนโต๊ะตัวหนึ่ง แล้วเข้าไปในเรือนเพื่อจะล้างมือ  นกกะเรียนที่ครอบครัวนั้นเลี้ยงไว้ในบ้านเห็นแก้วมณีที่เลือดและชิ้นเนื้อติดอยู่นั้นเข้าใจว่าเป็นชิ้นเนื้อ จึงจิกกลืนลงท้องไปต่อหน้าต่อตาของพระเถระ  เมื่อนายช่างเดินกลับมาแล้วพบว่าแก้วมณีนั้นหายไป  ก็ได้ถามภรรยาและบุตรว่าใครเอาแก้วมณีไป  เมื่อคนทั้งสองปฏิเสธ  นายช่างก็หันไปเรียนถามพระเถระว่าท่านเอาไปหรือไม่  พระเถระตอบว่าท่านก็ไม่ได้เอาไปเหมือนกัน  แต่นายช่างไม่เชื่อ  เพราะว่าในบ้านไม่มีใครอีกแล้ว  นายช่างจึงปักใจเชื่อว่าต้องเป็นพระเถระเอาแก้วมณีอันล้ำค่าของพระราชาไปแน่ๆ  เขาจึงปรึกษากับภรรยาว่าเขาต้องทรมานร่างกายของพระเถระเพื่อให้ท่านรับสารภาพให้ได้  แต่ฝ่ายภรรยาไม่เห็นด้วย  พยายามห้ามปรามสามีเพราะกลัวว่าจะเป็นบาปเป็นกรรม  แต่สามีไม่ยอมได้ทำการทรมานร่างกายพระเถระด้วยการเอาเชือกพันรอบศีรษะแล้วใช้ไม้ขัน  จนกระทั่งว่ามีโลหิตไหลออกมาจากศีรษะ หู และจมูก  พระเถระได้รับความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส  จนทรุดตัวลงนอนที่พื้นดิน  ข้างนกกะเรียนได้กลิ่นเลือดจากกายของพระเถระ ก็ออกมาใช้งะงอยปากดูดกินโลหิตนั้น

นายช่างเห็นก็เลยใช้เท้าเตะไปที่นกกะเรียนอย่างรุนแรงด้วยอารมณ์โกรธ พลางปากก็สำรากถ้อยคำว่า มึงจะทำอะไรหรือ?”  ผลของการเตะทำให้นกกะเรียนเสียชีวิตในทันที  พระเถระเห็นนกแน่นิ่งไปเช่นนั้น  จึงกล่าวขึ้นว่า  อุบาสก  ท่านจงผ่อนเชือกพันศีรษะของอาตมาให้หย่อน  แล้วไปดูสิว่า นกมันตายแล้วหรือยัง  นายช่างได้ยินก็พูดสวนกลับว่า  ท่านก็จะตายเหมือนนกนี้เหมือนกัน

พระเถระตอบว่า อุบาสก  แก้วมณีนั้น  นกนี้กลืนกินเข้าไปในท้อง  หากนกนี้ยังไม่ตาย  อาตมภาพแม้จะตาย ก็จะไม่บอกเรื่องนี้กับท่าน  นายช่างได้ใช้มีดแหวะท้องนกกะเรียนก็พบแก้วมณีอยู่ในนั้นจริงๆ  เลยเกิดการช็อกสังเวชสลดใจ  ก้มลงกราบพระเถระและกล่าวขอขมาลาโทษท่านว่า  ขอพระคุณเจ้าจงยกโทษให้ผมด้วยเถิด  ผมทำอะไรลงไปกับท่านด้วยการรู้เท่าไม่ถึงการณ์  พระเถระตอบว่า  อุบาสก  ท่านไม่มีโทษหรอก  อาตมาก็ไม่มีโทษเหมือนกัน  มีแต่โทษของวัฏฏะ(เป็นเรื่องกรรมเวร)  อาตมภาพยกโทษให้ท่าน   นายช่างเมื่อได้ยินเช่นนั้นจึงพูดว่า  ท่านครับ  เมื่อท่านยกโทษให้ผมแล้ว  ก็ขอนิมนต์ท่านมารับบิณฑบาตในบ้านของผมเหมือนเดิมเถิด  พระเถระกล่าวว่าท่านจะไม่เข้ามารับบิณฑบาตในบ้านของนายช่างอีกต่อไป   เพราะที่เกิดเรื่องนี้ขึ้นก็ด้วยสาเหตุท่านเข้ามารับบิณฑบาตในบ้านของชาวบ้าน  ท่านมีใจแน่วแน่ที่จะสมาทานธุดงควัตรอย่างเคร่งครัดด้วยกล่าวปฏิญาณว่าตั้งแต่นี้ไป  เมื่อเท้าทั้งสองยังเดินไปได้  เราจักยืนที่ประตูเรือนรับภิกษาเท่านั้น  ครั้นต่อมาไม่นาน  พระเถระก็ปรินิพพาน(มรณภาพ) ด้วยพิษบาดแผลจากการถูกทรมานนั้น

ต่อมา  พระภิกษุทั้งหลายได้ทูลถามถึงที่เกิดของบุคคลต่างๆในเรื่อง  พระศาสดาตรัสว่า นกกะเรียนกลับมาเกิดเป็นบุตรชายของนายช่าง  นายช่างไปเกิดในนรก  ภรรยานายช่างตายแล้วไปเกิดในเทวโลก  เพราะมีจิตใจอ่อนโยนในพระเถระ  ส่วนพระเถระ เป็นพระอรหันต์ ก็ปรินิพพาน

จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า

คพฺภเมเก   อุปฺปชฺชนฺติ
นิรยํ  ปาปกมฺมิโน
สคฺคํ  สุคติโน  ยนฺติ
ปรินิพฺพนฺติ  อนาสวาฯ

ชนทั้งหลายบางพวก  ย่อมเข้าถึงครรภ์(เกิดเป็นมนุษย์)
ผู้มีกรรมลามก  ย่อมเข้าถึงนรก
ผู้มีกรรมเป็นเหตุแห่งสุคติ  ย่อมไปสวรรค์
ผู้ไม่มีอาสวะ  ย่อมปรินิพพาน.

เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง   ชนเป็นอันมาก  บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.


--------------------------------------------------------------------------------------



11. เรื่องชน 3 กลุ่ม

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตะวัน   ทรงปรารภชน  3  คน  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า   อนฺตลิกฺเข     สมุทฺทมชฺเฌ   เป็นต้น

มีภิกษุ  3 กลุ่มมีประสบการณ์ไปพบเห็นที่แตกต่างกัน คือ ภิกษุกลุ่มที่หนึ่ง  จะเดินทางมาเข้าเฝ้าพระศาสดา  ในระหว่างทางได้ไปแวะพักอยู่ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง  ขณะที่พวกชาวบ้านกำลังตระเตรียมปรุงอาหารบิณฑบาตถวายพระสงฆ์อยู่นั้น  มีบ้านหลังหนึ่งเกิดไฟไหม้ และมีเสวียนไฟ(ลักษณะเป็นวงกลม) ปลิวขึ้นสู่ท้องฟ้า  และมีอีกาตัวหนึ่งบินสอดคอเข้าไปในวงเสวียนไฟตกลงมาตายที่กลางหมู่บ้าน  ภิกษุทั้งหลายเห็นอีกาบินสอดคอเข้าไปในเสวียนตกลงมาตายเช่นนั้น  ก็กล่าวว่า  จะมีก็แต่พระศาสดาเท่านั้นที่จะทรงทราบกรรมชั่วที่ส่งผลให้อีกาตัวนี้ต้องมาประสบชะตากรรมเสียชีวิตอย่างสยดสยองครั้งนี้ 

ภิกษุกลุ่มที่สอง  โดยสารเรือจะไปเฝ้าพระศาสดา  เมื่อเรือลำนั้นเดินทางมาถึงกลางมหาสมุทร  เกิดการหยุดนิ่งอยู่กับที่  พวกผู้โดยสารมากับเรือต่างปรึกษาหารือกันถึงสาเหตุที่ทำให้เรือหยุด   เห็นว่าในเรือน่าจะมีคนกาลกัณณี  จึงได้ทำสลากแจกให้แต่ละคนจับเพื่อค้นหาคนกัณณีคนนั้น  ปรากฏว่าสลากคนกาลกัณณีนั้น ภรรยาของนายเรือจับได้ถึงสามครั้ง  นายเรือจึงกล่าวขึ้นว่า  คนทั้งหลายจะมาตายเพราะหญิงกาลกัญณีคนนี้ไม่ได้  จึงจับภรรยาของนายเรือ ใช้กระสอบทรายมัดที่คอแล้วผลักตัวลงไปในน้ำทะเล   เมื่อหญิงภรรยาของนายเรือถูกจับถ่วงน้ำไปแล้ว  เรือก็สามารถเคลื่อนตัวได้อย่างปาฏิหาริย์   เมื่อภิกษุเหล่านั้นเดินทางถึงจุดหมายปลายทางแล้ว  ก็ขึ้นฝั่งจะเดินทางต่อไปเฝ้าพระศาสดา  พระกลุ่มนี้ตั้งใจว่าจะทูลถามว่า  หญิงผู้นี้ทำกรรมชั่วอะไรไว้  จึงเป็นผู้โชคร้ายถูกถ่วงน้ำจนเสียชีวิต

ภิกษุกลุ่มที่สามก็จะเดินทางมาเฝ้าพระศาสดาเหมือนกัน  แต่ในระหว่างทางได้เข้าไปสอบถามที่พระภิกษุวัดแห่งหนึ่งว่าพอจะมีที่พักค้างแรมสักคืนในบริเวณใกล้เคียงหรือไม่  เมื่อได้รับแจ้งว่ามีถ้ำแห่งหนึ่งพอจะพักค้างแรมได้  จึงได้เดินทางไปพัก ณ ที่นั้น  แต่พอถึงช่วงกลางดึกก็มีหินใหญ่ก้อนหนึ่งกลิ้งมาปิดที่ปากถ้ำ  ในตอนเช้าพวกภิกษุจากวัดที่อยู่ใกล้ๆเดินทางมาที่ถ้ำ เมื่อเห็นหินใหญ่กลิ้งมาปิดอยู่ที่ปากถ้ำเช่นนั้น  ก็ได้ไปตระเวนขอแรงชาวบ้านจากเจ็ดหมู่บ้านให้มาช่วยกันผลักหินก้อนนั้น  แต่ไม่ประสบความสำเร็จ   ด้วยเหตุนี้พระภิกษุ  7 รูปจึงถูกขังอยู่ในถ้ำโดยไม่ได้ฉันอาหารฉันเป็นเวลา  7 วัน  พอถึงวันที่  7  หินใหญ่ที่ปิดปากถ้ำก็เคลื่อนตัวออกมาเองราวปาฏิหาริย์  ภิกษุกลุ่มนี้ก็ตั้งใจว่า  เมื่อเดินทางไปเฝ้าพระศาสดาแล้วก็จะทูลถามว่าเป็นวิบากกรรมชั่วอะไรที่ทำให้พวกท่านต้องถูกขังอยู่ในถ้ำนานถึง  7 วันเช่นนี้

ภิกษุทั้งสามกลุ่มได้เดินทางมาพบกันระหว่างทาง  จึงเดินทางไปเฝ้าพระศาสดาพร้อมกัน  ภิกษุแต่ละกลุ่มก็ได้กราบทูลถึงสิ่งที่กลุ่มตนได้ประสบพบเห็นมา  และพระศาสดาได้ตรัสตอบคำถามของพระภิกษุทั้งสามกลุ่มดังนี้

พระศาสดาตรัสตอบคำถามของพระภิกษุกลุ่มแรกว่า  ภิกษุทั้งหลาย  กานั้นได้เสวยกรรมที่ตนทำแล้วนั่นแหละโดยแท้  เรื่องมีอยู่ว่า  ชาวนาผู้หนึ่งในกรุงพาราณสี  ฝึกโคของตนอยู่  แต่ไม่อาจฝึกได้  ด้วยว่าโคของเขาเดินไปได้หน่อยเดียวก็นอน  แม้เขาจะตีให้ลุกขึ้น  ให้เดินไปได้หน่อยเดียวก็ล้มตัวลงนอนเหมือนอย่างเดิม  ชาวนานั้น  แม้พยายามแล้วก็ไม่สามารถฝึกโคได้สำเร็จ  จึงมีความโกรธ กล่าวกับมันว่า  อยากนอนนัก  ก็นอนอยู่ที่นี่ ไม่ต้องไปไหนอีก  ว่าแล้วก็เอาฟ่อนฟางมามัดที่คอโคแล้วจุดไฟเผา   โคถูกไฟคลอกตาย ภิกษุทั้งหลาย  กรรมอันเป็นบาปนั้น  ชาวนานั้นกระทำแล้วในครั้งนั้น  ทำให้เขาหมกไหม้อยู่ในนรกสิ้นกาลนาน  เพราะวิบากของกรรมอันเป็นบาปนั้น  เกิดแล้วในกำเนิดกา  7  ครั้ง  ถูกไฟไหม้ตายในอากาศอย่างนี้แหละ  ด้วยเศษวิบากกรรม"

พระศาสดาตรัสตอบปัญหาของพระภิกษุกลุ่มที่สองว่า ภิกษุทั้งหลาย  ครั้งหนึ่งมีหญิงผู้หนึ่ง  เลี้ยงสุนัขไว้ตัวหนึ่ง  นางพาสุนัขตัวนี้ไปไหนมาไหนด้วย  จนพวกเด็กๆเห็นพากันล้อเลียน  นางทั้งโกรธและรู้สึกอับอายมากจึงได้วางแผนฆ่าสุนัขนั้น  นางได้เอาหม้อมาใส่ทรายจนเต็มแล้วผูกหม้อทรายนั้นที่คอของสุนัขแล้วถ่วงสุนัขนั้นลงในน้ำ จนสุนัขนั้นจมน้ำตาย   จากผลของกรรมชั่วครั้งนั้น  นางตกรกอยู่เป็นเวลานาน  ในร้อยชาติสุดท้าย นางถูกมัดถ่วงด้วยกระสอบทรายที่คอก่อนจะถูกผลักลงน้ำจนเสียชีวิต

พระศาสดาตรัสตอบปัญหาของพระภิกษุกลุ่มที่สามว่า ภิกษุทั้งหลาย  ครั้งหนึ่งเด็กเลี้ยงโค 7 คนเห็นเหี้ยตัวหนึ่งเดินเข้าไปในช่องจอมปลวก  จึงช่วยกันปิดทางออกทั้ง 7     ช่องของจอมปลวกด้วยกิ่งไม้และก้อนดินเหนียว  หลังจากปิดช่องทางไม่ให้เหี้ยออก  พวกเด็กก็ต้อนโคไปเลี้ยง ณ ที่อื่น  หลังจากนั้นอีกเจ็ดวัน  เมื่อต้อนโคกลับมาที่เดิมจึงนึกขึ้นมาได้  และได้ไปช่วยกันเปิดช่องจอมปลวกให้เหี้ยนั้นออกมา  ก็เพราะวิบากกรรมครั้งนั้น    ทำให้ทั้ง 7 คนถูกขังอยู่ในถ้ำนานถึง 7 วันโดยไม่ได้รับประทานอาหารแบบนี้  ในช่วง 14 ชาติสุดท้าย

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลถามพระศาสดาว่า  ผู้ซึ่งเหาะไปในอากาศก็ดี  แล่นไปสู่มหาสมุทรก็ดี  เข้าไปสู่ซอกแห่งภูเขาก็ดี  จะไม่ทำให้สามารถรอดพ้นจากกรรมได้  ใช่หรือไม่  พระเจ้าข้า  พระศาสดาตรัสว่า  อย่างนั้นแหละ   ภิกษุทั้งหลาย  ไม่ว่าจะไปอยู่ในอากาศ หรือไปอยู่ที่ใดก็ตาม  ไม่มีที่ไหนๆที่บุคคลไปอยู่แล้ว  จะรอดพ้นจากกรรมชั่วได้
จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบทพระคาถานี้ว่า

  อนฺตลิกฺเข     สมุทฺทมชฺเฌ
  ปพฺพตานํ  วิวรํ  ปวิสฺส
  วิชฺชเต   โส  ชคติปฺปเทโส
ยตฺรฏฺฐิโต   มุจเจยฺย   ปาปกมฺมาฯ

คนที่ทำกรรมชั่วไว้  หนีไปแล้วในอากาศ
ก็ไม่พึงพ้นจากความชั่วได้
หนีไปในท่ามกลางมหาสมุทร
ก็ไม่พึงพ้นจากกรรมชั่วได้
หนีเข้าไปสู่ซอกแห่งภูเขา
ก็ไม่พึงพ้นจากกรรมชั่วได้
เพราะเขาอยู่แล้วในประเทศแห่งแผ่นดินใด
พึงพ้นจากกรรมชั่วได้
ประเทศแห่งแผ่นดินนั้น  หามีอยู่ไม่.

เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง   ภิกษุเหล่านั้น  บรรลุอริยผลทั้งหลายมีโสดาปัตติผลเป็นต้น พระธรรมเทศนามีประโยชน์แม้แก่มหาชนผู้มาประชุมกัน.


--------------------------------------------------------------------------------------



12.เรื่องสุปปพุทธศากยะ

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในนิโครธาราม  ทรงปรารภเจ้าศากยะทรงนามว่าสุปปพุทธะ  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า     อนฺตลิกฺเข    สมุทฺทมชฺเฌ  เป็นต้น

พระเจ้าสุปปพุทธะเป็นพระราชบิดาของเจ้าชายเทวทัต  และเป็นสัสสุระ(พ่อตา)ของเจ้าชายสิทธัตถะ  ซึ่งต่อมาก็คือพระโดดมพุทธเจ้านั่นเอง   ท้าวเธอผูกอาฆาตในพระศาสดาด้วยเหตุ 2 ประการ  คือ 1. พระสมณโคดมนี้ทิ้งลูกสาวของเรา(คือพระนางยโสธรา) ออกบวช  และ 2.  ให้ลูกชายของเรา(คือเจ้าชายเทวทัต) บวชแล้วตั้งตัวเป็นศัตรูกับลูกชายของเรา  อยู่มาวันหนึ่ง  ทรงดำริว่า  จะไม่ให้พระสมณโคดมไปฉันยังสถานที่นิมนต์  จึงไปนั่งเสวยน้ำจัณฑ์(สุรา)ปิดหนทางที่จะเสด็จไป   เมื่อพระศาสดาเสด็จมาพร้อมหมู่ภิกษุสงฆ์  พระเจ้าสุปปพุทธปฏิเสธที่จะหลีกทางให้  และได้รับสั่งกับมหาดเล็กให้ไปบอกพระสมณโคดมว่า  พระสมณโคดมไม่ใหญ่กว่าเรา  เราจักไม่ให้ทางแก่พระสมณโคดม  พระศาสดาเมื่อทรงพบว่าหนทางเสด็จถูกปิดกั้นไว้เช่นนั้น  พระองค์พร้อมด้วยหมู่ภิกษุสงฆ์ก็ได้เสด็จกลับ  พระเจ้าสุปปพุทธะได้ส่งสายลับ(จารบุรุษ)ติดตามพระศาสดาไปเพื่อสืบทราบว่าได้ตรัสว่าอย่างไรบ้างแล้วกลับมารายงานให้ทรงทราบ

ขณะที่พระศาสดาเสด็จกลับนั้น   ได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า  เจ้าสุปปะพุทธะนั้นไม่ให้ทางแก่พระพุทธเจ้าเช่นเรา  ทำกรรมหนักแล้ว  ในวันที่ 7 แต่วันนี้  ท้าวเธอถูกแผ่นดินสูบ  ณ ที่ใกล้เชิงบันได  ในภายใต้ปราสาท

เมื่อจารบุรุษลายลับผู้นั้นนำความมากราบทูลให้ทราบ  พระเจ้าสุปปพุทธะตรัสว่า  พระองค์จะไม่เสด็จไปที่ตรงเชิงบันได  เมื่อไม่ไปตรงนั้นพระองค์ก็จะไม่ถูกธรณีสูบที่ตรงจุดนั้น  และก็จะพิสูจน์ว่าดำรัสของพระสมณโคดมผิดพลาด  ท้าวเธอได้รับสั่งให้พวกมหาดเล็กขนเครื่องใช้สอยของพระองค์ทั้งหมดไปไว้บนปราสาท 7 ชั้น  ให้ชักบันได  ปิดประตู  วางคนแข็งแรงประจำไว้ที่ประตู  ๆ ละ 2 คน  ตรัสว่า  หากพระองค์หลงลืมเสด็จดำเนินไปทางนั้น ก็ให้คอยดึงพระองค์เอาไว้

พระศาสดาทรงสดับการดำเนินการของพระเจ้าสุปปพุทธะแล้ว  ตรัสว่า  ภิกษุทั้งหลาย  เจ้าสุปปพุทธะ  ไม่ว่าจะนั่งอยู่ในปราสาท  จะเหาะขึ้นไปสู่เวหาหาวไปนั่งในอากาศ  จะไปมหาสมุทรด้วยเรือ จะเข้าไปอยู่ในซอกเขา  พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผิดพลาดไม่จริงเป็นอันไม่มี  ท้าวเธอจะถูกธรณีสูบในสถานที่เราพูดไว้นั่นแหละ

จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า

  อนฺตลิกฺเข     สมุทฺทมชฺเฌ

  ปพฺพตานํ  วิวรํ  ปวิสฺส
  วิชฺชเต   โส  ชคติปฺปเทโส
ยตฺรฏฺฐิตํ   นปฺปสเหยฺย  มจฺจุ.

ไม่ว่าผู้นั้นจะนั่งอยู่ในกลางหาว 
ไม่ว่าจะเข้าไปสู่ท่ามกลางสมุทร
ไม่ว่าจะเข้าไปสู่ซอกเขา
ส่วนของแผ่นดิน
ที่ความตายไม่พึงครอบงำผู้สถิตอยู่
ย่อมไม่มี.

เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง  ชนเป็นอันมาก  บรรลุอริยผลทั้งหลาย   มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.

ครั้นถึงวันที่  7  ในเวลาเดียวกับที่เจ้าสุปปพุทธะปิดหนทางภิกษาจารของพระศาสดา  ม้ามงคลของเจ้าสุปปพุทธะในภายใต้ปราสาทเกิดคึกคะนองโดยไม่ทราบสาเหตุ  ส่งเสียงร้องและใช้เท้าดีดฝาโรงม้าเสียงดังโครมคราม เจ้าสุปปพุทธะสดับเสียงคึกคะนองของม้ามงคลนั้นแล้ว  มีพระประสงค์จะไปจับม้านั้น  ได้เสด็จลุกขึ้นจากที่ประทับ  บ่ายพระพักตร์มาทางประตู   ฉับพลันนั้นเองประตูทั้งหลายก็เปิดเอง  บันไดที่ถูกยกขึ้นไว้ก็กลับมาพาดอยู่ในที่เดิม  คนแข็งแรงที่จัดไว้ดูแลที่ประตู  จับท้าวเธอที่พระศอ  แล้วผลักจนพระพักตร์ขมำลงไปเบื้องล่าง  เมื่อท้าวเธอก้าวไปประทับยืนอยู่ที่เชิงบันได ตรงที่ภายใต้ปราสาท  แผ่นดินตรงนั้นก็แยกตัวสูบท้าวเธอไปบังเกิดในอเวจีนรก.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น