วันอาทิตย์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2558

พราหมณวรรค:39.เรื่องเทวหิตพราหมณ์



39.  เรื่องเทวหิตพราหมณ์

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภปัญหาของเทวหิตพราหมณ์  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  ปุพฺเพนิวาสํ  เป็นต้น

ในสมัยหนึ่ง  พระศาสดา  ทรงอาพาธด้วยพระวาโย(ลม)กำเริบ  ทรงส่งพระอุปวานเถระไปขอน้ำร้อนจากเทวหิตพราหมณ์   พราหมณ์นั้นมีความดีใจมากที่นานครั้งจะได้มีโอกาสถวายสิ่งของแด่พระศาสดา  ดังนั้นนอกจากจะถวายน้ำร้อนมาแล้ว  พราหมณ์นั้นก็ยังถวายน้าอ้อยมาพร้อมกันด้วย   เมื่อกลับมาถึงวัดพระเชตวันแล้ว   หลังจากที่ทรงสงน้ำแล้ว  พระอุปวานะก็ได้น้อมถวายน้ำร้อนและน้ำอ้อย   เมื่อพระศาสดาทรงเสวยของทั้งสองอย่างเข้าไปแล้วอาการพระวาโยกำเริบก็หายไป  ต่อมาพราหมณผู้นั้นได้มาเฝ้าพระศาสดาและกราบทูลถามว่า  บุคคลควรให้ไทยธรรมในบุคคลไหน ?  ไทยธรรมวัตถุอันบุคคลให้ในบุคคลไหน ?  จึงมีผลมาก   ทักษิณาของบุคคลผู้บูชาอยู่อย่างไรเล่า ? จะสำเร็จได้อย่างไร ?”  พระศาสดาตรัสว่า ไทยธรรมวัตถุ  ที่บุคคลให้แก่พราหมณ์ผู้เช่นนี้  ย่อมมีผลมาก

เมื่อจะตรัสบอกบุคคลผู้เป็นพราหมณ์แก่พราหมณ์นั้น  จึงตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

ปุพฺเพนิวาสํ  เย  เวทิ
สคฺคาปายญฺจ  ปสฺสติ
อโถ  ชาติกฺขยํ  ปตฺโต
อภิญฺญา  โวสิโต  มุนิ
สพฺพโวสิตโวสานํ
ตมหํ  พฺรูมิ  พฺราหฺมณํ 

บุคคลรู้ขันธ์ที่อาศัยอยู่ในก่อน
ทั้งเห็นสวรรค์และอบาย
อนึ่ง  บรรลุความสิ้นไปแห่งชาติ
เสร็จกิจแล้ว  เพราะรู้ยิ่ง
เป็นมุนี  เราเรียกบุคคลนั้น
ซึ่งมีพรหมจรรย์อันอยู่เสร็จสรรพแล้ว
ว่าเป็นพราหมณ์.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง  ชนเป็นอันมาก  บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผลเป็นต้น แม้พราหมณ์มีจิตเลื่อมใส ตั้งอยู่ในสรณะสาม ประกาศตนเป็นอุบาสกแล้ว.

พราหมณวรรค:38.เรื่องพระอังคุลิมาลเถระ



38.เรื่องพระอังคุลิมาลเถระ

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภพระอังคุลิมาลเถระ  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  อุสภํ   เป็นต้น

ในสมัยหนึ่ง  พระเจ้าปเสนทิโกศล  และพระนางมัลลกาเทวี ได้ทรงถวาย  อสทิสทาน (ทานที่หาทานใดเสมอเหมือนมิได้)  แด่พระศาสดาและภิกษุทั้งหลาย 500  รูป  โดยในพีธีถวายทานในครั้งนี้  ภิกษุแต่ละรูปจะมีช้างยืนถือเศวตฉัตรกั้นอยู่เหนือศีรษะ  แต่ช้างที่นำมาเข้าพิธีที่ผ่านการฝึกมาอย่างดีแล้วมีทั้งสิ้นจำนวน 499 ตัว  จึงจำเป็นต้องนำช้างตัวที่ 500 ซึ่งเป็นช้างที่ยังมิได้รับการฝึกมากั้นฉัตรถวายพระอังคุลิมาลเถระ  หลังจากเสร็จพิธีนั้นแล้ว  ภิกษุทั้งหลาย  ถามพระอังคุลิมาลเถระว่า  ผู้มีอายุ  ท่านเห็นช้างดุร้าย  ยืนกั้นฉัตรอยู่นั้น  ไม่กลัวหรือหนอ  เมื่อพระอังคุลมารเถระตอบว่า  ไม่กลัวหรอก ท่าน  ก็ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระศาสดา  โดยกล่าวหาว่า  พระเถระนั้นอวดอ้างตนว่าบรรลุเป็นพระอรหันต์   พระศาสดาตรัสกับภิกษุเหล่านั้นว่า  ภิกษุทั้งหลาย  อังคุลิมาลบุตรของเรา  ย่อมไม่กลัว  เพราะว่า  ภิกษุทั้งหลายเช่นกับบุตรของเรา   ผู้องอาจที่สุดในระหว่างพระขีณาสพผู้องอาจทั้งหลาย  ย่อมไม่กลัว

จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

อุสภํ  ปวรํ  วีรํ
มเหสึ  วิชิตาวินํ
อเนชํ  นหาตกํ  พุทฺธํ
ตมหํ  พฺรูมิ  พฺราหฺมณํ 

เราเรียกบุคคลผู้องอาจ  ประเสริฐ
แกล้วกล้า  แสวงหาคุณอันใหญ่
ผู้ชนะโดยวิเศษ   ไม่หวั่นไหว  ผู้ล้างแล้ว  ผู้รู้
นั้นว่า  เป็นพราหมณ์.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง   ชนเป็นอันมาก  บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.



พราหมณวรรค:37.เรื่องพระธรรมทินนาเถรี



37.เรื่องพระธรรมทินนาเถรี

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน  ทรงปรารภภิกษุณีชื่อธรรมทินนา  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  ยสฺส  ปุเร จ  เป็นต้น

ในวันหนึ่ง  ในกรุงราชคฤห์  วิสาขอุบาสกสามีของนางธรรมทินนา  ไปฟังธรรมของพระศาสดาแล้วได้บรรลุพระอนาคามิผล   เมื่อกลับมาบ้าน  ได้กล่าวกับภรรยาว่า   นางจงรับทรัพย์สมบัติทั้งปวงในบ้านนี้ไว้ดูแลเถิด ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปเขาจะไม่บริหารจัดการเรื่องใดๆทั้งสิ้น  นางธรรมทินนาได้ยินสามีกล่าวเช่นนั้นจึงตอบไปว่า ใครจักรับน้ำลายที่ท่านบ้วนทิ้งนางได้ขออนุญาตสามีบวชเป็นนางภิกษุณี   เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว  ก็ได้เข้าไปบวชอยู่ในสำนักของนางภิกษุณี   หลังจากที่นางบวชเป็นภิกษุณีได้ไม่นาน  นางก็ได้ติดตามพวกภิกษุณีทั้งหลายไปปฏิบัติธรรมที่วัดแห่งหนึ่งในชนบท  ต่อมาไม่นานนางก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์  แล้วเดินทางกลับมาที่กรุงราชคฤห์
เมื่อวิสาขอุบาสก ทราบว่าภิกษุณีธรรมทินนากลับมาแล้ว  ก็ได้ไปพบและได้สอบถามปัญหาทางธรรมด้วย  เมื่อวิสาขอุบาสกสอบถามในเรื่องที่อยู่ในขอบข่ายของโสดาปัตติมรรค  สกทาคามิมรรค  และอนาคามิมรรค  นางก็สามารถตอบได้อย่างฉะฉาน  แต่พอวิสาขอุบาสกสอบถามธรรมในส่วนที่เกินเลยไปจากนั้น  พระธรรมทินนาเถรีตอบว่า เป็นการถามปัญหาที่เลยวิสัยสามารถของเขาไปเสียแล้ว  และได้แนะนำให้ไปกราบทูลถามพระศาสดาโดยตรง  จากนั้นวิสาขอุบาสกได้ลุกจากที่สนทนา เข้าไปกราบทูลเรื่องที่สนทนากันนี้กับพระศาสดา  พระศาสดาตรัสว่า  ธรรมทินนาธิดาของเรากล่าวดีแล้ว  ด้วยเราเมื่อจะแก้ปัญหานั่น  ก็พึงแก้อย่างนั้นเหมือนกัน

จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

ยสฺส  ปุเร    ปจฺฉา 
มชฺเฌ    นตฺถิ  กิญฺจนํ
อกิญฺจนํ  อนาทานํ
ตมหํ  พฺรูมิ  พฺราหฺมณํ ฯ

ความกังวลในก่อน  ในภายหลัง
และในท่ามกลาง  ของผู้ใด  ไม่มี
เราเรียกผู้นั้น  ซึ่งไม่มีความกังวล
ไม่มีความยึดมั่นว่า  เป็นพราหมณ์.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง  ชนเป็นอันมาก  บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.

พราหมณวรรค:36.เรื่องพระวังคีสเถระ



36.เรื่องพระวังคีสเถระ

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภพระวังคีสเถระ  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  จุตึ  โย  เวทิ

 เป็นต้น

ในกาลครั้งหนึ่ง   พราหมณ์ในกรุงราชคฤห์คนหนึ่งชื่อวังคีสะ   แค่เคาะกะโหลกศีรษะของพวกมนุษย์ที่ตายแล้ว  ก็รู้ได้ในทันทีว่า  นี้เป็นศีรษะของคนผู้เกิดในนรก  นี้เป็นศีรษะของคนผู้เกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน  นี้เป็นศีรษะของผู้เกิดในเปรตวิสัย  นี้เป็นศีรษะของผู้เกิดในมนุษยโลก  นี้เป็นศีรษะของผู้เกิดในเทวโลก  พวกพราหมณ์ทั้งหลายถือเอาเรื่องนี้เป็นจุดขาย  จึงได้นำวังคีสพราหมณ์ขึ้นเกวียนออกตระเวนไปตามที่ต่างๆ  และก็มีคนเป็นจำนวนมากมาขอรับบริการจากเขาให้เคาะศีรษะของพวกญาติๆที่ตายไปแล้ว  โดยทั้งนี้คนที่มารับบริการจะต้องจ่ายเงินเป็นค่าบริการคนละ 10  กหาปณะบ้าง  20 กหาปณะบ้าง  30 กหาปณะบ้าง

อยู่มาวันหนึ่ง   วังคีสพราหมณ์และคณะได้มาถึงสถานที่แห่งหนึ่ง  ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดพระเชตวัน  เมื่อพวกพราหมณ์ในคณะเห็นประชาชนจะเดินทางไปเฝ้าพระศาสดา  จึงได้ร้องเชื้อเชิญให้พวกเขามาใช้บริการเคาะกะโหลกศีรษะของญาติเพื่อรู้ที่เกิดของพวกเขา    แต่ประชาชนเหล่านั้นตอบว่า วังคีสะจะรู้อะไร  บุคคลผู้ทัดเทียมกับพระศาสดาของเราย่อมไม่มี  พวกพราหมณ์เหล่านั้น  ต้องการจะพิสูจน์ว่าระหว่างวังคีสะกับพระศาสดาใครจะเก่งกว่ากัน  จึงได้พาวังคีสะร่วมเดินทางไปเฝ้าพระศาสดา  พระศาสดาเมื่อทรงทราบวัตถุประสงค์ของคนเหล่านั้นแล้ว  จึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายนำกะโหลกศีรษะของคนตายที่ไปเกิดในนรก   คนตายที่ไปเกิดในกำเนิดดิรัจฉาน  คนตายที่ไปเกิดในกำเนิดมนุษย์   คนตายที่ไปเกิดเป็นเทวดา   และคนตายที่เป็นพระอรหันต์   มาเรียงกันไว้ตามลำดับ  แล้วให้วังคีสะเคาะ  วังคีสะเคาะแล้วสามารถบอกที่กำเนิดของกะโหลกคนตายของ  4  คนแรกได้อย่างถูกต้อง  แต่พอมาเคาะกะโหลกของพระอรหันต์  วังคีสะบอกไม่ได้ว่าไปเกิดที่ใด  พระศาสดาตรัสถามว่า ท่านไม่รู้หรือ  เมื่อเขากราบทูลว่า  พระเจ้าข้า  ข้าพระองค์ไม่รู้  พระศาสดาตรัสว่า ฉันรู้  วังคีสะได้กราบทูลมนต์ที่จะทำให้ล่วงรู้กะโหลกศีรษะของพระอรหันต์นั้น  แต่พระศาสดาตรัสว่าพระองค์จะประทานมนต์นั้นเฉพาะแก่บุคคลที่เป็นภิกษุเท่านั้น   วังคีสะจึงได้บอกกับพราหมณ์ทั้งหลายในคณะให้ออกไปรออยู่นอกวัดในขณะที่เขาเรียนมนต์อยู่กับพระศาสดา  จากนั้น  พระศาสดาได้ทำพิธีอุปสมบทแก่วังคีสะ    และเมื่ออุปสมบทเป็นภิกษุแล้ว  พระศาสดาทรงประทานพระกัมมัฏฐานที่มีอาการ 32  เป็นอารมณ์แก่พระวังคีสเถระ  แล้วตรัสว่า เธอจงสาธยายบริกรรมมนต์  เมื่อได้บริกรรมอาการ 32  นั้นผ่านไปเพียง  2-3 วัน วังคีสเถระก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์  เมื่อพวกพราหมณ์ในคณะมาชวนให้ออกไปตระเวนเคาะกะโหลกคนตายอีก  พระวังคีสเถระก็ได้ตอบปฏิเสธไปว่า  ฉันไม่ควรไปแล้ว

ภิกษุทั้งหลาย  ได้ยินคำนั้นแล้ว  เข้าใจว่าพระวังคีสะอวดอ้างตน  ว่าเป็นพระอรหันต์ด้วยความไม่จริง  จึงนำความนั้นกราบบังคมทูลพระศาสดา   พระศาสดาตรัสว่า  ภิกษุทั้งหลาย  พวกเธออย่ากล่าวอย่างนั้น  ภิกษุทั้งหลาย  บัดนี้  บุตรของเราฉลาดในการจุติและปฏิสนธิแล้ว

จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  สองพระคาถานี้ว่า

จุตึ  โย  เวทิ  อตฺตานํ
อุปฺปตฺติญฺจ  สพฺพโส
อสตฺตํ  สุคตํ  พุทฺธํ
ตมหํ  พฺรูมิ  พฺราหฺมณํ 

ยสฺส  คตึ    ชานนฺติ
เทวา  คนฺธพฺพมานุสา
ขีณาสวํ  อรหนฺตํ
ตมหํ  พฺรูมิ  พฺราหฺมณํ ฯ

ผู้ใด  รู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย
โดยประการทั้งปวง
เราเรียกผู้นั้นซึ่งไม่ข้องไปดี  รู้แล้ว
ว่า  เป็นพราหมณ์.

เทพดา  คนธรรพ์  และหมู่มนุษย์
ย่อมไม่รู้คติของผู้ใด
เราเรียกผู้นั้น  ซึ่งมีอาสวะสิ้นแล้ว
ผู้ไกลจากกิเลส  ว่า  เป็นพราหมณ์.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง   ชนเป็นอันมาก  บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.