วันอาทิตย์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2558

ปกิณณกวรรค:04.เรื่องพระลกุณฏกภัททยเถระ



04.เรื่องพระลกุณฏกภัททยเถระ

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตะวัน  ทรงปรารภพระลกุณฏกภัททิยเถระ   ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  มาตรํ  ปิตรํ  หนฺตวา  เป็นต้น

วันหนึ่ง  ภิกษุอาคันตุกะหลายรูปด้วยกัน  เข้าไปเฝ้าพระศาสดา  ซึ่งประทับนั่ง ณ  ที่ประทับกลางวัน  ถวายบังคมแล้ว  นั่ง ณ  ที่ควรข้างหนึ่ง  ขณะนั้น  พระลกุณฏกภัททิยเถระเดินผ่านไปในที่ไม่ไกลจากพระศาสดา

พระศาสดา  ทรงทราบวารจิต(คือความคิด)  ของภิกษุเหล่านั้นแล้ว  ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย  พวกเธอเห็นหรือไม่ ?
ภิกษุนี้ฆ่ามารดาบิดาแล้ว  เป็นผู้ไม่มีทุกข์  ไปอยู่ ?”  เมื่อภิกษุเหล่านั้นมองดูหน้ากันและกัน  เกิดความสงสัยว่า พระศาสดา ตรัสอะไรอย่างนี้ ?”   พระศาสดาทรงทราบวารจิต  จึงตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

มาตรํ  ปิตรํ   หนฺตฺวา
ราชาโน  เทฺว    ขตฺติเย
รฏฺฐํ   สานุจรํ   หนฺตฺวา
อนีโฆ  ยาติ  พฺราหฺมโณ ฯ

มาตรํ  ปิตรํ  หนฺตฺวา
ราชาโน  เทฺว    โสตฺถิเย
เวยยคฺฆปญฺจมํ  หนฺตฺวา
อนีโฆ  ยาติ  พฺราหฺมโณ ฯ

บุคคลฆ่ามารดาบิดา
ฆ่าพระราชาผู้กษัตริย์ 2 พระองค์
และฆ่าแว่นแคว้นพร้อมด้วยเจ้าพนักงาน
เก็บส่วยแล้ว  เป็นพราหมณ์
ไม่มีทุกข์  ไปอยู่.

บุคคลฆ่ามารดาบิดา
ฆ่าพระราชาผู้เป็นพราหมณ์ทั้ง  2  ได้แล้ว
และฆ่าหมวด 4 แห่งนิวรณ์มิวิจิกิจฉานิวรณ์
เช่นกับหนทางที่เสือโคร่งเที่ยวไปที่  5
แล้ว  เป็นพราหมณ์  ไม่มีทุกข์  ไปอยู่.

หมายเหตุ   ในพระธรรมบท  สองพระคาถานี้ พระศาสดาหมายถึงอริยบุคคลผู้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว ซึ่งได้กำจัด ตัณหา  อัสมิมานะ  ทิฏฐิ  อายตนะ 12   ที่ตรัสเช่นนั้นเป็นการใช้คำเชิงเปรียบเทียบ   คำว่า  มารดา  และ  บิดา  ทรงใช้หมายถึง ตัณหา  และอัสมิมานะ ตามลำดับ  ส่วนสัสสสทิฏฐิ  และ อุจเฉททิฏฐินั้น  ทรงเปรียบว่าเหมือนกษัตริย์ 2  พระองค์   ความกำหนัดด้วยความยินดี  ซึ่งอาศัยอายตนะ 12  นั้น  เป็นดุจคนเก็บส่วย  ส่วนอายตนะภายใน 6 และอายนตะภายนอก 6  รวมเป็นอายตนะ 12  นั้น  เปรียบกับ  แว่นแคว้น  เพราะมีความกว้างขวาง

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง   ภิกษุเหล่านั้น  บรรลุอรหัตตผลแล้ว.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น