วันจันทร์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2558

นิรยวรรค:05. เรื่องภิกษุว่ายาก



05. เรื่องภิกษุว่ายาก

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภภิกษุผู้ว่ายากรูปหนึ่ง   ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  กุโส  ยถา  เป็นต้น
ในกาลครั้งหนึ่ง   ภิกษุรูปหนึ่ง  ดึงหญ้าต้นหนึ่งขาดโดยไม่เจตนา   เมื่อเกิดความสงสัยว่าจะเป็นอาบัติหรือไม่  จึงไปถามภิกษุอีกรูปหนึ่ง  ซึ่งก็ได้รับคำตอบจากภิกษุหัวดื้อว่ายากรูปนี้ว่า   การดึงต้นหญ้าให้ขาดนี้  เป็นความผิดเล็กๆน้อยๆเท่านั้น  แค่ท่านแสดงอาบัติเท่านั้น  ก็สามารถพ้นจากอาบัตินี้ได้   ท่านอย่าได้วิตกกังวลไปเลย   พอพูดจบ  พระรูปที่อธิบายนั้นก็เอาสองมือถอนหญ้าเพื่อเป็นการพิสูจน์ความคิดของตนเองว่าการถอนหญ้าเป็นความผิดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น 

ภิกษุทั้งหลายได้นำความขึ้นกราบทูลพระศาสดา   พระศาสดาจึงตรัสพระธรรมบท  สามพระคาถานี้ว่า

กุโส  ยถา  ทุคฺคหิโต
หตฺถเมวานุกนฺตติ
สามญฺญํ  ทุปฺปรามฏฺฐํ
นิรยายูปกฑฺฒติ 

ยงฺกิญฺจิ  สิถิลํ  กมฺมํ
สงฺกิลิฏฺฐญฺจ  ยํ  วตํ
สงฺกสฺสรํ  พฺรหฺมจริยํ
  ตํ  โหติ  มหปฺผลํ ฯ

กยิรา  เจ  กยิราเถนํ
ทฬฺหเมนํ  ปรกฺกเม
สิถิโล  หิ ปริพฺพาโช
ภิยฺโย  อากิรเต  รชํ ฯ

หญ้าคาที่บุคคลจับไม่ดี
ย่อมตามบาดมือนั่นเอง ฉันใด
คุณเครื่องสมณะ  ที่บุคคลลูบคลำไม่ดี
ย่อมคร่าเขาไปในนรก ฉันนั้น.

การงานอย่างใดอย่างหนึ่งที่ย่อหย่อน
วัตรใดที่เศร้าหมอง
พรหมจรรย์ที่ระลึกด้วยความรังเกียจ
กรรมทั้ 3 อย่างนี้  ย่อมไม่มีผลมาก.

หากว่าบุคคลพึงทำกรรมใด
ควรทำกรรมนั้นจริง
ควรบากบั่นทำกรรมนั้นให้มั่น
เพราะว่าสมณธรรมเครื่องละเว้นที่ย่อหย่อน
ยิ่งเกลี่ยธุลีลง.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง   ชนเป็นอันมาก  บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผลเป็นต้น  ภิกษุแม้นั้น  ดำรงอยู่ในความสังวรแล้ว  ภายหลังเจริญวิปัสสนา  บรรลุพระอรหัตตผล.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น