วันอาทิตย์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2558

มัคควรรค:07.เรื่องสัทธิวิหาริกของพระสารีบุตรเถระ



07.เรื่องสัทธิวิหาริกของพระสารีบุตรเถระ

พระศาสดา   เมื่อประทับในพระเชตวัน   ทรงปรารภสัทธิวิหาริกของพระสารีบุตรเถระ   ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า     อุจฺฉินฺท   เป็นต้น

ในกาลครั้งหนึ่ง   ชายหนุ่มบุตรนายช่างทองผู้หนึ่ง  เป็นหนุ่มรูปหล่อ   ได้รับการอุปสมบทเป็นภิกษุ  โดยมีพระสารีบุตรเถระเป็นพระอุปัชฌายะ   พระสารีบุตรเถระได้มอบหัวข้อพระกัมมัฏฐานซึ่งมีการพิจารณาสิ่งไม่งามเป็นอารมณ์(อสุภกัมมัฏฐาน)  ให้พระรูปนี้ไปปฏิบัติ   หลังจากรับหัวข้อพระกัมมัฏฐานนี้จากพระอุปัชฌายะแล้ว  พระหนุ่มรูปนี้ก็ได้เข้าไปปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอยู่ในป่า  แต่ก็มีความก้าวหน้าในพระกัมมัฏฐานเพียงเล็กน้อยเท่านั้น  ดังนั้นท่านจึงกลับไปหาพระสารีบุตรเถระเพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติม  แต่เมื่อนำไปปฏิบัติ  ก็ยังไม่มีความก้าวหน้าเหมือนเดิม   คราวนี้พระสารีบุตรเถระได้พาภิกษุนั้นเข้าไปเฝ้าพระศาสดา  และกราบทูลเรื่องราวต่างๆให้พระศาสดาได้ทรงทราบ
พระศาสดา  ทรงทราบว่า  พระหนุ่มนี้เป็นบุตรของนายช่างทอง  และทรงทราบด้วยญาณพิเศษด้วยว่า  ภิกษุนี้เคยเกิดในตระกูลช่างทองมาแล้ว  500 ชาติ  จึงได้ทรงเปลี่ยนหัวข้อพระกัมมัฏฐานให้พระรูปนี้เสียใหม่  คือจากเดิมให้พิจารณาสิ่งที่ไม่งาม  ก็ให้มาพิจารณาในสิ่งที่งาม  โดยพระองค์ได้ทรงใช้พระฤทธิ์เนรมิตดอกบัวซึงมีขนาดใหญ่เท่าล้อเกวียน  แล้วให้นำดอกบัวนี้ไปปักไว้ที่กองทรายข้างนอกวัด   ให้นั่งขัดสมาธิหันหน้าไปทางดอกบัว  แล้วทำบริกรรมว่า  โลหิตกํ  โลหิตกํ(สีแดง  สีแดง)  เมื่อภิกษุหนุ่มเพ่งพินิจดอกบัวใหญ่มีสีแดงสวยและมีกลิ่นหอม  และบริกรรมอย่างนั้น    ก็สามารถขจัดนิวรณ์เครื่องขวางกั้นทั้งหลาย   เกิดความปีติอิ่มเอิบใจ  จนถึงขั้นบรรลุฌานที่ 4(จตุตถฌาน)

พระศาสดา  ประทับในพระคันธกุฎี   ทอดพระเนตรเห็นด้วยญาณพิเศษ  จึงใช้อำนาจฤทธิ์เนรมิตให้ดอกบัวนั้นเหี่ยวแห้งอย่างฉับพลัน   เมื่อภิกษุหนุ่มเห็นดอกบัวเหี่ยวและเปลี่ยนสีเป็นสีดำเช่นนั้น  ก็ได้รับรู้ถึงความไม่เที่ยงของดอกบัวและของสิ่งทั้งหลายทั้งปวง   และก็นำไปสู่การรู้แจ้งเห็นจริงในความไม่เที่ยง  ความเป็นทุกข์  และความไม่มีตัวตนของสังขารทั้งหลาย

เมื่อถึงตอนนี้  พระศาสดาประทับที่พระคันธกุฎี   ทรงเปล่งพระรัศมีไปปรากฏอยู่เฉพาะหน้าของภิกษุนั้น  แล้วตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

อุจฺฉินท  สิเนหมตฺตโน
กุมุทํ  สารทิกํว  ปาณินา
สนฺติมคฺคเมว  พฺรูหเย
นิพฺพานํ  สุคเตน  เทสิตํ 

เธอจงตัดความเยื่อใยของตนเสีย
เหมือนบุคคลถอนดอกโกมุทที่เกิดในสารทกาลด้วยมือ
จงเจริญทางแห่งสันติทีเดียว
เพราะพระนิพพาน   อันพระสุคตแสดงแล้ว.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง   พระภิกษุหนุ่มรูปนั้น  ได้บรรลุอรหัตตผล.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น