วันอังคารที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2558

ตัณหาวรรค:02.เรื่องนางลูกสุกร



02.เรื่องนางลูกสุกร

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภนางลูกสุกรกินคูถตัวหนึ่ง  ตรัสพระธรรมเทศฯนี้ว่า  ยถาปิ  มูเล  เป็นต้น

วันหนึ่ง   พระศาสดาเสด็จเข้าไปยังกรุงราชคฤห์  เพื่อบิณฑบาต  ทอดพระเนตรเห็นนางลูกสุกรตัวหนึ่ง  จึงได้ทรงทำการแย้มพระโอษฐ์ให้ปรากฏ  เมื่อพระอานนทเถระทูลถามถึงสาเหตุแห่งการแย้มพระโอษฐ์นั้น  พระศาสดาตรัสว่า   เมื่อครั้งอดีต  นางลูกสุกรนั่น  ได้เกิดเป็นแม่ไก่  อยู่ในที่ใกล้โรงฉันแห่งหนึ่ง  ในศาสนาของพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากกุสันธะ  นางไก่นั้น  ฟังเสียงประกาศธรรมของภิกษุผู้เป็นโยคาวจรรูปหนึ่ง  สาธยายวิปัสสนากัมมัฏฐานอยู่  จุติจากอัตตภาพนั้นแล้ว  ได้เกิดในราชตระกูล  เป็นราชธิดาพระนามว่า  อุพพรี  ในกาลต่อมา  พระนาง เสด็จเข้าไปยังสถานที่ถ่ายอุจจาระ  ทอดพระเนตรเห็นหมู่หนอนแล้ว  ยังปุฬวกสัญญาให้เกิดขึ้นในที่นั้น  ได้ปฐมฌานแล้ว  พระนางดำรงอยู่ในอัตตภาพนั้นจนสิ้นอายุ  จุติจากอัตตภาพนั้นแล้ว  เกิดในพรหมโลก  พระนางครั้นจุติจากอัตตภาพนั้นแล้ว  สับสนอยู่ด้วยอำนาจคติ  จึงเกิดแล้วในกำเนิดสุกรในบัดนี้  เราเห็นเหตุนี้  จึงได้ทำการแย้มให้ปรากฏ

ภิกษุทั้งหลายสดับเรื่องที่พระศาสดาทรงแสดงแล้วได้ความสังเวชเป็นอันมาก  พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศโทษของราคตัณหา  ประทับยืนอยู่ระหว่างถนนนั่นเอง  ตรัสพระธรรมบท  ห้าพระคาถานี้ว่า

ยถาปิ  มูเล  อนุปทฺทเว  ทฬฺเห
ฉินฺโนปิ  รุกฺโข  ปุนเรว  รูหติ
เอวมฺปิ  ตณฺหานุสเย  อนูหเต
นิพฺพตฺตตี  ทุกฺขมิทํ  ปุนปฺปุนํ ฯ

ยสฺส  ฉตฺตึสติโสตา
มนาปสฺสวนา  ภุสา
มหา  วหนฺติ  ทุทฺทิฏฺฐึ
สงฺกปฺปา  ราคนิสฺสิตา ฯ

สวนฺติ  สพฺพธี  โสตา
ลตา  อุพฺพิชฺช  ติฏฐติ
ตญจ  ทิสฺวา  ลตํ  ชาตํ
มูลํ  ปญฺญาย  ฉินฺทถ ฯ

สริตานิ  สิเนหิตานิ 
โสมนสฺสานิ  ภวนฺติ  ชนฺตุโน
เต  สาตสิตา  สุเขสิโน
เต  เว  ชาติชรูปคา  นรา ฯ

ตสิณาย  ปุรกฺขตา  ปชา
ปริสปฺปนฺติ  สโสว  พาธิโต
สํโยชนสงฺคสตฺตา
ทุกฺขมุเปนฺติ  ปุนปฺปุนํ  จิราย ฯ
 
ตสิณาย  ปุรกฺขตา  ปชา
ปริสปฺปนฺติ  สโสว  พาธิโต
ตสฺมา  ตสิณํ  วิโนทเย  ภิกฺขุ
อากงฺขํ  วิราคมตฺตโน 

ต้นไม้  เมื่อรากไม่มีอันตราย  ยังมั่นคง
ถึงบุคคลตัดแล้ว   ย่อมงอกขึ้นได้อีกทีเดียว  แม้ฉันใด
ทุกข์นี้  เมื่อตัณหานุสัย  อันบุคคลยังขจัดไม่ได้แล้ว
ย่อมเกิดขึ้นร่ำไป  แม้ฉันนั้น.

กระแส(แห่งตัณหา)  36
อันไหลไปในอารมณ์เป็นที่พอใจ
เป็นธรรมชาติกล้า  ย่อมมีแก่บุคคลใด
ความดำริทั้งหลายอันใหญ่  อาศัยราคะนำบุคคลนั้น  ผู้มีทิฏฐิชั่วไป.

กระแส(แหงตัณหาทั้งหลาย)
ย่อมไหลไปในอารมณ์ทั้งปวง 
ตัณหาดุจเถาวัลย์แตกขึ้นแล้วย่อมตั้งอยู่
ก็ท่านทั้งหลายเป็นตัณหานั้น  
เป็นดังเถาวัลย์เกิดแล้ว  จงตัดรากเสียด้วยปัญญา.

โสมนัสทั้งหลายที่ซ่านไป  และเปื้อนตัณหาดุจยางเหนียว 
ย่อมมีแก่สัตว์  สัตว์ทั้งหลายนั้น
อาศัยความสำราญ  จึงเป็นผู้แสวงหาความสุข
นระเหล่านั้นแล  ย่อมเป็นเข้าถึงชาติชรา.

หมู่สัตว์อันตัณหาผู้ทำความดิ้นรนล้อมไว้แล้ว
ย่อมกระเสือกกระสน  เหมือนกระต่าย
อันนายพรานดักได้แล้ว  ฉะนั้น 
หมู่สัตว์  อันตัณหาผู้ทำความดิ้นรนล้อมไว้แล้ว
ย่อมกระเสือกกระสน  เหมือนกระต่ายที่นายพรานดักได้แล้ว  ฉะนั้น
เพราะเหตุนั้น  ภิกษุหวังธรรมเป็นที่สำรอกกิเลสแก่ตน
พึงบรรเทาตัณหาผู้ทำความดิ้นรนเสีย.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง  ชนเป็นอันมาก  บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดปัตติผลเป็นต้น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น