วันอาทิตย์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2558

มัคควรรค:05.เรื่องพระโปฐิลเถระ



05.เรื่องพระโปฐิลเถระ

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภพระเถระนามว่าโปฐิละ  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  โยคา  เว  เป็นต้น

พระโปฐิลเถระ   ได้ศึกษาเล่าเรียนพระไตรปิฎกจนเชี่ยวชาญ  และได้เป็นอาจารย์สั่งสอนธรรมแก่ภิกษุ 500  รูป
เพราะมีความเข้าใจว่าตนรู้พระไตรปิฎกมาก  พระโปฐิละจึงมีความทะนงตัวมาก  พระศาสดาทรงทราบจุดอ่อนจุดนี้ของพระโปฐิละ  และทรงมีพระประสงค์จะแก้ไขให้ปฏิบัติตามแนวทางที่ถูกต้อง   ดังนั้น  ในทุกครั้งที่พระโปฐิละมาเข้าเฝ้า   พระศาสดาก็จะตรัสเรียกพระโปฐิละว่า  พระใบลานเปล่า  เมื่อพระโปฐิละได้ยินพระศาสดาตรัสเรียกเช่นนี้   ก็เกิดความตระหนักว่า  ที่พระศาสดาตรัสเรียกเช่นนี้ก็เพราะมีพระประสงค์จะทรงกระตุ้นให้พระโปฐิละมีความเพียรรีบเร่งปฏิบัติพระกัมมัฏฐานจนบรรลุมรรคผลอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนั้น ท่านจึงเดินทางออกจากวัดพระเชตวันโดยไม่ได้บอกให้ผู้อื่นรู้  ได้ไปที่วัดแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ห่างจากวัดพระเชตวันประมาณ  20 โยชน์  ที่วัดแห่งนี้มีภิกษุอยู่ 30 รูป ในเบื้องแรกนั้น  พระโปฐิละเข้าไปหาพระเถระที่มีอาวุโสทางพรรษามากที่สุด  แล้วขอให้ท่านพระเถระผู้มีอาวุโสทางพรรษามากที่สุดนี้เป็นผู้สอนธรรมแก่ท่าน  แต่พระเถระผู้มีอาวุโสมากนั้นต้องการจะให้พระโปฐิละคลายทิฏฐิความดื้อรั้น   จึงได้แนะนำให้ไปพบกับพระเถระผู้มีอาวุโสทางพรรษาน้อยกว่ารูปรองๆลงมา   และพระเถระอาวุโสรูปรองลงมาก็ได้แนะนำให้ไปพบกับพระเถระอาวุโสรองลงไปเรื่อยๆ  จนถึงสามเณรอายุ  7  ขวบ  สามเณรรูปนี้ได้รับท่านพระโปฐิลเป็นศิษย์  หลังจากที่ประโปฐิลเถระรับปากว่าจะปฏิบัติตามคำแนะนำของสามเณรอย่างเคร่งครัด  เมื่อได้รับคำแนะนำจากสามเณรนั้นแล้ว  พระโปฐิลเถระก็ได้ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอย่างคร่ำเคร่งจนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

พระศาสดาทอดพระเนตรเห็นพระโปฐิลเถระด้วยพระจักษุทิพย์  จึงได้ทรงเนรมิตพระกายทิพย์ไปปรากฏอยู่เบื้องหน้าพระโปฐิละ  ตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

โยคา  เว  ชายตี  ภูริ
อโยคา  ภูริสงฺขโย
เอตํ  เทวธาปถํ  ญตฺวา
ภวาย  วิภวาย 
ตถตฺถานํ  นิเวเสยฺย
ยถา  ภูริ  ปวฑฺฒติ 

ปัญญาย่อมเกิดจากการประกอบแล
ความสิ้นไปแห่งปัญญา เพราะการไม่ประกอบ
บัณฑิตรู้ทาง  2  แพร่งแห่งความเจริญ
และความเสื่อมนั้นแล้ว
พึงตั้งตนไว้โดยประการที่ปัญญาจะเจริญขึ้นได้รู้.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง   พระโปฐิละ  บรรลุอรหัตตผล.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น