วันพุธที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2557

โกธวรรค:08.เรื่องพระฉัพพัคคีย์



08. เรื่องพระฉัพพัคคีย์

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภภิกษุฉัพพัคคีย์  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  กายปฺปโกปํ  เป็นต้น
พระฉัพพัคคีย์ (พระหมู่หก)  สวมเขียงเท้า(รองเท้าทำด้วยไม้)   ถือไม้เท้าทั้งสองมือ  เดินจงบกรมบนหลังแผ่นดิน  เขียงเท้ากระทบแผ่นหินเสียงดังมาก  พระศาสดา ตรัสถามพระอานนทเถระว่า  เป็นเสียงอะไร พระเถระกราบทูลว่า เป็นเสียงเขียงเท้าที่พระพัคคีย์สวมใส่เดินจงกรมอยู่บนหลังแผ่นหิน  จึงทรงบัญญัติสิกขาบท  แล้วตรัสว่า  ธรรมดาภิกษุ  ควรรักษาทวารมีกายทวารเป็นต้น

จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  สี่พระคาถานี้ว่า

กายปฺปโกปํ  รกฺเขยย
กาเยน   สํวุโต  สิยา
กายทุจริตํ  หิตฺวา
กาเยน  สุจริตํ  จเร ฯ

วจีปโกปํ  รกฺเขยย
วาจาย  สํวุโต  สิยา
วจีทุจฺจริตํ  หิตฺวา
วาจาย  สุจริตํ  จเร ฯ

มโนปโกปํ  รกฺเขยฺย
มนสา  สํวุโต  สิยา
มโนทุจฺจริตํ  หิตฺวา
มนสา  สุจริตํ  จเร ฯ

กาเยน  สํวุตา  ธีรา
อโถ  วาจาย  สํวุตา
มนสา  สํวุตา  ธีรา
เต  เว  สุปริสํวุตา 

พึงรักษาความกำเริบทางกาย
พึงเป็นผู้สำรวมทางกาย
พึงละกายทุจริตแล้ว
ประพฤติสุจริตทางกาย.

พึงรักษาความกำเริบทางวาจา
พึงเป็นผู้สำรวมทางวาจา
พึงละวจีทุจริตแล้ว
ประพฤติสุจริตทางวาจา.

พึงรักษาความกำเริบทางใจ
พึงเป็นผู้สำรวมทางใจ
พึงละมโนทุจริต
แล้วประพฤติสุจริตทางใจ.

ธีรชนทั้งหลาย  สำรวมทางกาย
สำรวมทางวาจา  และสำรวมทางใจ
ธีรชนเหล่านั้นแล
ชื่อว่าสำรวมรอบคอบดีแล้ว.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง  ชนเป็นอันมาก  บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.

โกธวรรค:07.เรื่องอตุลอุบาสก



07.เรื่องอตุลอุบาสก

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภอุบาสกชื่ออตุละ  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  โปราณเมตํ  เป็นต้น

อตุลอุบาสก  เป็นชาวกรุงสาวัตถี  มีอุบาสกเป็นบริวาร  500 คน  วันหนึ่งพาอุบาสกเหล่านั้นไปที่วัดพระเชตะวัน  เพื่อต้องการจะฟังธรรม  ได้ไปพบพระเรวตเถระเป็นองค์แรก  พระเรวตเถระเป็นพระชอบปลีกวเวก  ชอบเที่ยวไปองค์เดียว  ไม่ค่อยจะสุงสิงกับใคร  ท่านจึงไม่พูดอะไรกับอตุลอุบาสกและบริวาร  ทำให้อตุลอุบาสกโกรธ  พาบริวารไปพบกับพระสารีบุตรเถระ  พระสารีบุตรเถระจึงได้แสดงเรื่องอภธรรมให้ฟังอย่างละเอียดและยืนยาวมาก  อตุลอุบกก็โกรธอีก  บอกว่าทำไมแสดงธรรมเสียยืดยาว  จึงพาบริวารเดินทางไปพบพระอานนทเถระ  พระอานนทพุทธอุปัฏฐาก  แม้ว่าจะเชี่ยวชาญทางด้านพหูสูต  แต่ก็ได้แสดงธรรมแต่เพียงสั้นๆและที่เข้าใจได้ง่ายๆให้ฟัง  อตุลอุบาสกก็โกรธอีก  ได้พาบริวารไปเฝ้าพระศาสดา  กราบทูลถึงพฤติกรรมของพระเถระแต่ละรูป  คือของ พระเรวตเถระที่ไม่ยอมพูดจาอะไร  ของพระสารีบุตรที่แสดงธรรมที่ยาวและยาก  และของพระอานนท์ที่แสดงธรรมที่สั้นและง่ายจนเกนไป  พระศาสดาได้ตรัสว่า  อตุละ  ข้อนั้น  เขาเคยประพฤตกันมาตั้งแต่โบราณทีเดียว  ชนทั้งหลายติเตียน  ทั้งคนนิ่ง  ทั้งคนพูดมาก  ทั้งคนพูดน้อยทีเดียว  ด้วยว่า  ผู้อันเขาพึงติเตียนอย่างเดียวเท่านั้น  หรือว่า  ผู้อันเขาพึงสรรเสริญอย่างเดียว  ไม่มีเลย  แม้พระราชาทั้งหลาย  คนบางพวกก็นินทา  บางพวกก็สรรเสริญ  แผ่นดินใหญ่ก็ดี  พระจันทร์และพระอาทิตย์ก็ดี  ธาตุมีอากาศเป็นต้นก็ดี  คนบางพวกนินทา  บางพวกสรรเสริญ  แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ผู้ประทับนั่งแสดงธรรมในท่ามกลางบริษัท 4  คนบางพวกนินทา  บางพวกสรรเสริญ  ก็การนินทาหรือสรรเสริญของพวกอันธพาลไม่เป็นประมาณ  แต่ผู้ที่ถูกบัณฑิตผู้มีปัญญาติเตียน  จึงชื่อว่า  เป็นอันติเตียน  ผู้อันบัณฑิตสรรเสริญแล้ว  ชื่อว่าเป็นอันสรรเสริญ” 

จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

โปราณเมตํ  อตุล
เนตํ  อชชตนามิว
นินทนฺติ  ตุณฺหีมาสีนํ
นินฺทนติ  พหุภาณินํ
มิตภาณึปิ  นินฺทนฺติ
นตฺถิ โลเก  อนินฺทิโต ฯ

  จาหุ      ภวิสฺสติ
  เตรหิ  วิชฺชติ
เอกนฺตํ  นินฺทิโต  โปโส
เอกนฺตํ  วา  ปสํสิโต
ยญเจ  วิญฺญู  ปสํสนฺติ
อนุวิจจ  สุเว  สุเว 

อจฺฉิทฺทวุตฺตึ  เมธาวึ
ปญญาสีลสมาหิตํ
นิกฺขํ  ชมฺโพนทสฺเสว
โก  ตํ  นินฺทิตุมรหติ
เทวาปิ  นํ  ปสํสนฺติ
พรหฺมุนาปิ   ปสํสิโต 

อตุละ  การนินทาหรือการสรรเสริญนั่น เป็นของเก่า
นั่นไม่ใช่เป็นเหมือนมีในวันนี้
ชนทั้งหลาย  ย่อมนินทาผู้นั่งนิ่งบ้าง
ย่อมนินทาผู้พูดมากบ้าง
ย่อมนินทาผู้พูดพอประมาณบ้าง
ผู้ไม่ถูกนินทา  ไม่มีในโลก.

คนถูกนินทาโดยส่วนเดียว
หรือว่าอันเขาสรรเสริญโดยส่วนเดียว
ไม่ได้มีแล้ว  จักไม่มี
และไม่มีอยู่ในบัดนี้ 

หากว่าวิญญูชนใคร่ครวญแล้วทุกๆวัน
สรรเสริญผู้ใด  ซึ่งมีความประพฤติไม่ขาดสาย
มีปัญญา  ผู้ตั้งมั่นด้วยปัญญาและศีล
ใครเล่าย่อมควร  เพื่อติเตียนผู้นั้น
ผู้เป็นดังแท่งทองชมพูนุท
แม้เทพดาทั้งหลาย  ก็สรรเสริญเขา
ถึงพรหม  ก็สรรเสริญแล้ว.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง  อุบาสกเหล่านั้นทั้ง  500  บรรลุโสดาปัตตผล.

โกธวรรค:06.เรื่องนางปุณณทาสี



06.เรื่องนางปุณณทาสี

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ที่เขาคิชฌกูฏ  ทรงปรารภทาสีของเศรษฐีกรุงราชคฤห์ชื่อว่านางปุณณา  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  สทา  ชาครมานานํ  เป็นต้น

คืนหนึ่ง  นางปุณณาทาสี  จุดตะเกียงยืนซ้อมข้าวให้แก่เศรษฐี  เมื่อซ้อมข้าวไปๆ เกิดความเหน็ดเหนื่อย  ก็ได้หยุดพักเพื่อเอาแรง    ขณะที่นั่งพักอยู่นั้น   นางก็แลเห็นพระทัพพมัลลบุตรเถระ  ซึ่งใช้มือเป็นตะเกียง(ด้วยอำนาจฤทธิ์)ส่องเดินนำทางภิกษุทั้งหลาย  ไปยังที่พักของแต่ละองค์   หลังจากที่ท่านเหล่านั้นเสร็จสิ้นการฟังธรรมแล้ว  นางเห็นภิกษุเหล่านั้นเดินอยู่บนภูเขาในยามดึกตื่นเช่นนั้น  ก็เกิดความสงสัยว่า  ที่เรานอนดึกก็เพราะความยากจน จึงต้องมายืนซ้อมข้าวอยู่อย่างนี้  แต่ที่พระคุณเจ้าทั้งหลายไม่ยอมหลับนอนเป็นเพราะเหตุใด?  จะเป็นไปได้ไหม  ที่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งอาพาธ  หรือไม่ก็ถูกงูกัด

พอเช้าตรู่ในวันรุ่งขึ้น   นางปุณณาทาสี  ได้นำรำข้าว มาชุบน้ำให้ชุ่ม  ปั้นเป็นก้อนขนม  นำไปปิ้งไฟ  เมื่อสุกดีแล้วก็ห่อใส่พก  คิดว่าจะนำขนมนั้นไปนั่งรับประทานที่ริมฝั่งแม่น้ำ   ในระหว่างเดินมา  นางได้สวนกับพระศาสดาซึ่งกำลังจะเสด็จเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน  คิดว่า  ในวันอื่นๆ ถึงเราพบพระศาสดา  ไทยธรรมของเราก็ไม่มี  เมื่อไทยธรรมมี  เราก็ไม่พบพระศาสดา  ก็บัดนี้  ไทยธรรมของเราก็มี  ทั้งพระศาสดาก็ปรากฏเฉพาะหน้า  ถ้าพระองค์ไม่คิดว่า  ทานของเราเศร้าหมองหรือประณีต  แล้วพึงรับไซร้  เราพึงถวายขนมนี้  จึงวางหม้อลงที่พื้นดิน  ถวายบังคมพระศาสดา  กราบทูลว่า  ขอพระองค์จงรับทานอันเศร้าหมองนี้  ทำการสงเคราะห์แก่หม่อมฉันเถิด  พระเจ้าข้า

พระศาสดา  ทอดพระเนตรดูพระอานนทเถระแล้ว  ได้ทรงน้อมบาตร(ที่ท้าวมหาราชทั้งสี่ถวายไว้)  ที่พระอานนทเถระนำออกถวาย  รับขนมนั้น  นางปุณณาทาสีก็ได้วางขนมลงในบาตรของพระศาสดา  กราบทูลว่า  ขอธรรมที่พระองค์ทรงเห็นแล้ว  จงสำเร็จแก่หม่อมฉันเถิด  พระเจ้าข้า  พระศาสดา  ประทับยืนทรงกล่าวอนุโมทนาว่า จงสำเร็จอย่างนั้นเถิด

นางปุณณาทาสี คิดว่า  พระศาสดา ทรงทำการสงเคราะห์แก่เรา ด้วยการรับขนมก็จริง  ถึงกระนั้น  พระองค์ก็จักไม่เสวยขนมนั้น  คงประทานให้แก่กาหรือสุนัขข้างหน้า   เมื่อเสด็จไปยังราชมณเฑียรของพระราชาหรือเรือนของมหาอำมาตย์แล้ว  จักเสวยโภชนาหารอันประณีตแน่แท้

พระศาสดา  ทรงทราบวารจิต(ความคิด)ของนางปุณณาทาสี จึงทอดพระเนตรดูพระอานนทเถระ  แล้วแสดงอาการที่จะประทับนั่ง  พระอานนทเถระได้ปูลาดจีวรถวายเป็นอาสนะ  พระศาสดาก็ได้ประทับนั่งกระทำภัตตกิจ ณ ภายนอกเมืองนั่นเอง  ขณะนั้น เทพดาในห้องจักรวาลทั้งสิ้น  บีบโอชารสอันสมควรแก่เทพดาและมนุษย์ทั้งหลาย ให้เหมือนรวงผึ้งแล้ว  ใส่ลงในขนมนั้น  ส่วนนางปุณณาทาสีก็ได้ยืนมองดูอยู่

เมื่อทรงกระทำภัตตกิจเสร็จเรียบร้อยแล้ว  พระศาสดาได้ตรัสถามนางปุณณาทาสีว่า ปุณณา  เพราะเหตุใด  เจ้าจึงดูหมิ่นสาวกของเรา   นางปุณณาทาสีกราบทูลว่า  หม่อมฉันมิได้ดูหมิ่น  พระเจ้าข้าพระศาสดา เมื่อคืนนี้  เจ้ามองดูสาวกทั้งหลายของเรา แล้วพูดว่าอย่างไร?”    นางปุณณาทาสี พูดกับตัวเองว่า  ที่เรายังไม่นอน  เพราะเป็นคนจน  ต้องมายืนซ้อมข้าวให้เศรษฐี  แต่ที่พระผู้เป็นเจ้าไม่หลับไม่นอนจนดึกดื่น  ก็คงเป็นเพราะมีภิกษุอาพาธ  หรือไม่ก็มีภิกษุถูกงูกัด

พระศาสดา   ปุณณา  เจ้าไม่หลับ  เพราะอันตรายคือทุกข์ของตัวเอง  ส่วนสาวกทั้งหลายไม่หลับ  เพราะความเป็นผู้ประกอบเนืองๆ ซึ่งธรรมเครื่องตื่นอยู่ทุกเมื่อ

จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

สทา  ชาครมานานํ
อโหรตฺตานุสิกฺขนํ
นิพฺพานํ  อธิมุตฺตานํ
อฏฺฐํ  คจฺฉนฺติ  อาสวา.

อาสวะทั้งหลาย  ของผู้ตื่นอยู่ทุกเมื่อ
มีปรกติตามศึกษาทั้งกลางวันกลางคืน
น้อมไปแล้วสู่พระนิพพาน
ย่อมถึงความไม่ตั้งอยู่.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง  นางปุณณทาสี  ขณะยืนอยู่ตรงตรงนั้นแหละ  ได้บรรลุโสดาปัตตผล   พระธรรมเทศนา  มีประโยชน์แม้แก่บริษัทผู้มาประชุมกัน.
-------------------------------

หมายเหตุ : ถือกันว่าเป็นตำนานของ "บุญข้าวจี่" ของชาวอีสาน และชาวลาวเวียงจันทน์ที่อยู่ตามพื้นที่ต่างๆของเมืองไทย