06.เรื่องอชครเปรต
พระศาสดา
เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน
ทรงปรารภอชครเปรต ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า
อถ ปาปานิ กมฺมานิ
เป็นต้น
สมัยหนึ่ง
พระมหาโมคคัลลานะเถระกับพระลักขณเถระลงจากเขาคิชฌกูฏ ได้เห็นสัตว์ชื่ออชครเปรต(เปรตงูเหลือม) ร่างกายใหญ่ยาวประมาณ 25
โยชน์ ด้วยจักษุทิพย์
มีเปลวไฟลุกไหม้ทั้งสามด้าน
คือตั้งแต่ศีรษะลามจนถึงหาง
ตั้งแต่หางลามไปถึงศีรษะ และตั้งแต่ข้างลำตัวลามไปที่กลางตัว
พระมหาโมคคัลลานะเมื่อเห็นแล้วก็ยิ้มออกมา
เมื่อถูกพระลักขณเถระถามถึงสาเหตุของการยิ้มนั้น ก็ได้ตอบว่า
ผู้มีอายุ ตอนนี้ยังไม่ถึงเวลาที่จะตอบคำถาม
ท่านค่อยถามผมเมื่อตอนที่เราไปในสำนักของพระศาสดาเถิด จากนั้นได้เข้าไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ เมื่อพระเถระทั้งสองไปเฝ้าพระศาสดาและพระมหาโมคคัลลานเถระถูกพระลักขณเถระถามอีกครั้งหนึ่ง จึงตอบว่า
ผู้มีอายุ ผมเห็นเปรตตนหนึ่ง ณ ที่ตรงนั้น
ร่างกายของมันยาวใหญ่มาก
ผมเห็นมันก็จึงยิ้มออกมา
เพราะเห็นว่า
เปรตอะไรช่างตัวยาวใหญ่เสียเหลือเกิน
ไม่เคยพบเห็น ณ ที่ไหนมาก่อน
พระศาสดาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เปรตนั้น
แม้เราก็ได้เห็นเหมือนกันที่ควงต้นโพธิพฤกษ์ แต่เราไม่พูด
เพราะเห็นว่า พูดไปคนก็จะไม่เชื่อ เมื่อคนไม่เชื่อก็จะไม่เกิดประโยชน์อะไร บัดนี้เราได้โมคคัลลานะมาเป็นพยานแล้ว จึงได้พูด"
เมื่อภิกษุทั้งหลายทูตถามถึงบุรพกรรมของเปรตนั้น พระศาสดาได้ตรัสเล่าว่า ในสมัยแห่งพระพุทธจ้าพระนามว่ากัสสปะ เปรตนี้เป็นโจรใจดำอำมหิต ได้จุดไฟเผาบ้านของเศรษฐีผู้หนึ่งถึง 7
ครั้ง เท่านั้นยังไม่พอ
โจรคนนี้ก็ยังจุดไฟเผาพระคันธกุฎีของพระกัสสปพุทธเจ้าที่เศรษฐีนั้นสร้างถวายขณะที่พระกัสสปพุทธเจ้าเสด็จไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน เพราะผลแห่งกรรมชั่วนั้น
ทำให้โจรได้รับความทุกข์ในอเวจีนรกอยู่เป็นเวลานาน ในกาลบัดนี้ ได้มาเกิดเป็นอชครเปรต ถูกไฟไหม้อยู่ที่เขาคิชฌกูฏ
ด้วยวิบากแห่งกรรมที่ยังเหลือ
พระศาสดาครั้นตรัสถึงบุรพกรรมของเปรตนั้นแล้ว จึงตรัสว่า
ภิกษุทั้งหลาย ธรรมดาคนพาล ทำกรรมชั่วอยู่ย่อมไม่รู้ แต่ภายหลังเร่าร้อนอยู่เพราะกรรมอันตนทำแล้ว ย่อมเป็นเช่นกับไฟไหม้ป่า ด้วยตนของตนเอง จากนั้น
พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท
พระคาถานี้ว่า
อถ
ปาปานิ กมฺมานิ
กรํ
พาโล น พุชฺฌติ
เสหิ
กมฺเมหิ ทุมฺเมโธ
อคฺคิทฑฺโฒว
ตปฺปติ ฯ
อันคนพาล
ทำกรรมทั้งหลายอันลามกอยู่
ย่อมไม่รู้สึก
บุคคลมีปัญญาทราม ย่อมเดือดร้อน ดุจถูกไฟไหม้
เพราะกรรมของตนเอง.
เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นมาก
บรรลุโสดาปัตติผลทั้งหลาย
มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น