03. เรื่องพระกุณฑลเกสีเถรี
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน
ทรงปรารภนางกุณฑลเกสี ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 102 และพระคาถา 103 นี้
นางกุณฑลเกสี
เป็นธิดาของเศรษฐีคนหนึ่งในกรุงราชคฤห์ นางมีนิสัยเจ้าชู้ร่านผู้ชายมาก
มารดาบิดาจึงนำตัวไปกักไว้บนชั้นบนสุดของปราสาท 7 ชั้น อยู่มาวันหนึ่งนางมองลงมาจากปราสาทเห็นโจรผู้หนึ่งถูกนำตัวไปสู่ที่ประหาร
นางเกิดความรักในโจรนั้นขึ้นมาในทันที และได้ใช้วิธียื่นคำขาดกับพ่อแม่ว่า
หากนางไม่ได้โจรนั้นมาเป็นสามีนางก็จะฆ่าตัวตาย
ข้างมารดาบิดาพยายามพูดจาหว่านล้อมต่างๆแต่ก็ไม่สำเร็จ จึงต้องจำใจใช้เงินไปไถ่ชีวิตโจรนั้นให้พ้นจากอาญาแผ่นดินมาแต่งงานกับบุตรสาวของตน
แม้ว่านางกุณฑลเกสีจะรักสามีโจรมาก แต่สามีโจรไม่ได้รักนางแต่อย่างใด
สามีโจรมีความประสงค์อยากจะได้ทรัพย์สมบัติและเครื่องทองรูปพรรณของนางเพื่อนำไปขายซื้อสุราดื่ม
วันหนึ่งเขาจึงออกอุบายให้นางสวมเครื่องทองรูปพรรณและเพชรนิลจินดาทุกชนิดแล้วพากันขึ้นไปบนภูเขา
โดยอ้างว่าจะไปกระทำพิธีแก้บนเทวดาที่ตนเคยบนไว้ให้ช่วยรอดพ้นจากการถูกประหาร
นางกุณฑลเกสีหลงเชื่อและเดินทางขึ้นภูเขาไปกับสามี
เมื่อทั้งสองคนไปถึงที่หมายหมายแล้ว
ข้างสามีโจรก็ได้บอกถึงความประสงค์ที่แท้จริงของตนว่า
ที่พากันมานี้เพราะต้องการฆ่านางเพื่อนำเอาเครื่องเพชรเครื่องทองทั้งหลายไปขายซื้อสุราดื่ม
นางได้วิงวอนขอชีวิตแต่โจรไม่ยอมจะฆ่านางให้ได้
นางจึงตัดสินใจฆ่าโจรเพื่อรักษาชีวิตของตนเองไว้
ทั้งนี้นางได้ใช้กลลวงว่านางเพิ่งจะอยู่กับสามีโจรมาไม่นาน ไหนๆก็จะตายแล้วนางมีความประสงค์จะทำความเคารพสามีเป็นครั้งสุดท้าย
ซึ่งโจรก็ตกหลุมพรางยอมให้นางกระทำตามต้องการ
พอสามีเผลอนางก็ได้ผลักสามีตกลงเหวตาย จากนั้นนางไม่ต้องการจะเดินทางกลับบ้าน
จึงนำเอาเครื่องเพชรเครื่องทองของประดับกายทั้งหมดห้อยไว้ตามกิ่งไม้
แล้วเดินทางไปโดยปราศจากจุดหมายปลายทาง
นางเดินทางไปถึงอาศรมของนางปริพาชกและได้ขอบวชเป็นนางปริพาชิกา
พวกปริพาชกได้สอนนางให้รู้จักศิลปะตั้งคำถาม 1000 คำถามสำหรับถามคนทั่วไป
ด้วยเหตุที่นางเป็นคนเฉลียวฉลาดจึงสามารถเรียนศิลปะนี้สำเร็จได้อย่างรวดเร็วมาก
จากนั้นพวกปริพาชกก็ได้บอกให้นางถือกิ่งชมพู่ออกตระเวนถามปัญหาไปทั่วชมพูทวีป
เมื่อไปพบคนที่สามารถตอบปัญหาเหล่านี้ได้
หากผู้นั้นเป็นคฤหัสถ์ก็ให้นางมอบตนเป็นนางบำเรอ
หากเป็นบรรพชิตก็จงบรรพชาในสำนักของชายผู้นั้น นางจึงมีชื่อว่า “ชัมพุปริพาชิกา” เพราะนางถือกิ่งหว้าอยู่ในมือ
เที่ยวตระเวนไปปักกิ่งหว้านี้ไว้ตามกองทรายเพื่อล่อให้คนมาติดกับถามปัญหาไปทั่วทุกหนทุกแห่ง
นางตระเวนถามปัญหาไปถึงกรุงสาวัตถี
แต่ก่อนที่นางจะเดินทางเข้าไปไปในเมืองเพื่อขออาหารนั้น นางก็ได้ปักกิ่งหว้าไว้
เพื่อเป็นการท้าทายคนให้ออกมาโต้ตอบปัญหากับนาง
พระสารีบุตรเถระได้รับคำท้าของนางและสามารถตอบคำถามทั้ง 1000
ข้อของนางนั้นได้ แต่พอถูกถามกลับบ้าง ด้วยคำถามว่า “อะไรชื่อว่าหนึ่ง(เอกํ
นาม กึ)” นางกุณฑลเกสีตอบไม่ได้
และนางได้ขอให้พระสารีบุตรเถระช่วยเฉลยคำตอบ
พระสารีบุตรเถระตอบว่านางจะต้องบวชเป็นภิกษุณีเสียก่อนถึงจะเฉลยปัญหาข้อนี้
ดังนั้นนางจึงยอมบวชเป็นภิกษุณีและได้นามว่า พระกุณฑลเกสีเถรี หลังจากบวชเพียง 2-3
วันเท่านั้นนางก็ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมว่า “การฟังธรรมของนางกุณฑลเกสีมีไม่มาก
เป็นไปได้อย่างไรที่นางจะได้บรรลุพระอรหัตผล” และนางสามารถต่อสู้จนเอาชนะสามีโจรของนางได้ก่อนที่จะมาบวชเป็นนางปริพาชิกา
พระศาสดาตรัสกับภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นว่า
ปริมาณของคำพูดไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่คุณภาพของคำพูดนั้น และการเอาชนะคนอื่น
ไม่ชื่อว่าชัยชนะที่แท้จริง การเอาชนะโจรคือกิเลสที่อยู่ภายในตนนี่แหละ
จึงจะชื่อว่าชัยชนะอย่างแท้จริง
จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 102
และพระคาถาที่ 103
ว่า
โย จ คาถาสตํ ภาเส
อนตฺถปทสญฺหิตา
เอกํ ธมฺมปทํ เสยฺโย
ยํ สุตวา อุปสมฺมติฯ
ถึงจะกล่าวคาถาตั้งร้อยคาถา
แต่ไม่ประกอบด้วยบทที่มีประโยชน์
ก็สู้บทธรรมที่บุคคลฟังแล้วสงบเพียงบทเดียว
ไม่ได้.
โย สหสฺสํ สหสฺเสน
สงฺคาเม มานุเส ชิเน
เอกญฺจ เชยฺยมตฺตานํ
ส เว สงฺคมาชุตฺตโมฯ
ถึงจะชนะคนได้นับล้านคนในสมรภูมิ
ก็ยังสู้ชนะตนเองเพียงคนเดียวไม่ได้
ผู้เอาชนะตนเองได้นั้น
เป็นยอดขุนพล.
เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก
ได้บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น