06. เรื่องเศรษฐีชื่อพิฬาลปทกะ
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน
ทรงปรารภเศรษฐีชื่อพิฬาลปทกะ(เศรษฐีตีนแมว) ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า มาวมญฺเญถ
ปุญฺญสฺส เป็นต้น
บัณฑิตผู้หนึ่ง
ได้ฟังพระพุทธดำรัสเรื่องอานิสงส์ของทานแล้ว เกิดความเลื่อมใส ใคร่จะปฏิบัติตาม
ได้ชักชวนชาวบ้านทั้งหมู่บ้านมาร่วมกันถวายอาหารบิณฑบาตแด่พระพุทธเจ้าและหมู่ภิกษุสงฆ์
ตามแต่กำลังศรัทธาของตนๆ เมื่อบัณฑิตออกไปรับสิ่งของบริจาคจากชาวบ้าน ได้พบกับเศรษฐีผู้หนึ่ง
เศรษฐีผู้นี้เห็นบัณฑิตมารับของบริจาคที่ย่านตลาดของตน เห็นว่าเขาทำไม่ถูกต้อง
เพราะเมื่อจะทำบุญก็ควรทำแต่โดยลำพัง
ไม่ควรมาสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่นด้วยการออกเรี่ยไรสิ่งของอย่างนี้ จึงได้ประชดประชันด้วยการบริจาคสิ่งของอย่างละเล็กละน้อย(หยิบสิ่งของพร่องเท่ากับตีนแมว)
แต่ครั้นบริจาคสิ่งของไปแล้ว ก็กลัวว่าบัณฑิตนั้นจะเอาไปพูดในทางไม่ดี
อันจะก่อความเสียหายแก่เกียรติภูมิของตน
จึงได้พกพาอาวุธไปในสถานที่รวบรวมทานบริจาค คิดในใจว่า หากบัณฑิตพูดไม่ดี
ก็จะใช้อาวุธสังหารเสียให้ตาย พอถึงเวลากล่าวอนุโมทนาทานเข้าจริงๆ
บัณฑิตผู้ใจบุญนั้นกลับกล่าวอนุโมทนาแบ่งบุญแก่ทุกคนเท่าเทียมกัน
ไม่แยกแยะว่าใครให้น้อยใครให้มาก เศรษฐีนั้นนึกละอายใจ
ได้เข้าไปขอขมาโทษบัณฑิตใจบุญนั้น พระพุทธเจ้าทรงทราบเรื่อง
จึงได้ตรัสถึงคุณค่าของทานกับเศรษฐีว่า “อุบาสก
ขึ้นชื่อว่าบุญ ใครๆไม่ควรดูหมิ่นว่า
นิดหน่อย อันบุคคลถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์
มีพระพุทธเจ้าเช่นเราเป็นประธานแล้ว
ไม่ควรดูหมิ่นว่า เป็นของนิดหน่อย
ด้วยว่า บุรุษผู้บัณฑิต
ทำบุญอยู่
ย่อมเต็มไปด้วยบุญโดยลำดับแน่แท้
เปรียบเหมือนภาชนะที่เขาเปิดปากตั้งไว้กลางแจ้ง เมื่อฝนตกอยู่บ่อยๆ ภาชนะนั้นย่อมเต็มไปด้วยน้ำ ฉะนั้น”
และได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า
มาวมญฺเญถ ปุญฺญสฺส
น มตฺตํ อาคมิสฺสติ
อุทพินทุนิปาเตน
อุทกุมฺโภปิ ปูรติ
ธีโร ปูรติ ปุญญสฺส
โถกํ โถกํปิ อาจินํฯ
อย่าดูหมิ่นบุญว่า
เพียงเล็กน้อย จักไม่มาถึง
แม้แต่หม้อน้ำยังเต็มด้วยหยดน้ำ
ที่ตกลงมาไม่ขาดสายได้ ฉันใด
นักปราชญ์สั่งสมบุญ แม้ทีละน้อยๆ
ก็จะเต็มเปี่ยมด้วยบุญ ฉันนั้น.
เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง
เศรษฐีผู้นั้นบรรลุโสดาปัตติผลแล้ว พระธรรมเทศนา
ได้มีประโยชน์แม้แก่พุทธบริษัทที่มาประชุมกัน.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น