05.เรื่องอุบาสกคนใดคนหนึ่ง
พระศาสดา
เมื่อประทับอยู่ในเมืองอาฬวี
ทรงปรารภอุบาสกคนหนึ่ง
ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า ชิฆจฺฉา เป็นต้น
ในวันหนึ่ง
พระศาสดา ประทับนั่งในพระคันธกุฎี
ในพระเชตวัน
ทรงตรวจดูสัตวโลกในเวลาใกล้รุ่ง
ทรงทอดพระเห็นชายเข็ญใจคนหนึ่ง
ในเมืองอาฬวี
ทรงทราบถึงภาวะสุกงอมที่จะบรรลุธรรมของชายผู้นี้ จึงได้เสด็จไปที่เมืองอาฬวี
ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงสาวัตถีราว 30
โยชน์ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์จำนวน 500 รูป
และในวันนั้นชายเข็ญใจตั้งใจจะไปฟังธรรมของพระศาสดา แต่เผอิญว่าโคตัวหนึ่งของเขาหายไป
เขาจึงเที่ยวตามหาโคก่อนและจะไปฟังธรรมในภายหลัง ในขณะเดียวกันนั้น
ก็ได้มีการถวายภัตตาหารแด่พระศาสดาและพระภิกษุสงฆ์อยู่ที่บ้านหลังหนึ่งในเมืองอาฬวี หลังเสร็จสิ้นภัตตกิจของภิกษุสงฆ์แล้ว
และประชาชนก็พร้อมที่จะฟังคำอนุโมนาของพระศาสดา แต่พระศาสดายังไม่ทรงกล่าวอนุโมทนา เพราะมีพระประสงค์จะทรงรอคอยชายเข็ญใจผู้นั้น
ในที่สุดชายผู้นั้นก็ได้ตามหาจนพบโคที่หายไปนั้น
แล้วรีบวิ่งออกมาที่บ้านที่พระศาสดาประทับรออยู่นั้น พระศาสดามีรับสั่งให้จัดอาหารให้ชายเข็ญใจรับประทาน เมื่อชายเข็ญใจนั้นรับประทานอาหารอิ่มแล้ว พระศาสดาจึงได้ทรงแสดงอนุปุพพีกถา และอริยสัจ 4
เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง
ชายเข็ญใจก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล
หลังจากนั้น
พระศาสดาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ได้เสด็จกลับพระเชตวัน ในระหว่างทาง
ภิกษุทั้งหลายได้สนทนากันตั้งเป็นข้อสังเกตที่พระศาสดารับสั่งให้คนจัดอาหารให้ชายเข็ญใจรับประทานจนอิ่มก่อนแล้วจึงทรงแสดงธรรม
พระศาสดาทรงทราบความที่ภิกษุทั้งหลายสนทนากันนั้นจึงตรัสว่า พระองค์พร้อมภิกษุสงฆ์เสด็จมาที่เมืองนี้เป็นระยะทางไกลถึง
30
โยชน์ก็เพราะทราบด้วยพระญาณว่าชายเข็ญใจจะได้บรรลุธรรม ชายเข็ญใจหิวมาก เพราะต้องลุกขึ้นแต่เข้า
ไปเที่ยวตามหาโค
หากพระองค์แสดงธรรมก็จะไม่สามารถเข้าใจและบรรลุธรรมได้ เพราะความทุกข์อันเกิดจากความหิว จึงได้ให้เขารับประทานอาหารก่อน “ภิกษุทั้งหลาย
ด้วยว่า ชื่อว่าโรค เช่นกับโรคคือความหิว ไม่มี” พระศาสดาตรัสสรุปท้าย
จากนั้น
พระศาสดาจึงได้ตรัสพระธรรมบท
พระคาถานี้ว่า
ชิฆจฺฉา
ปรมา โรคา
สงฺขารา
ปรมา ทุกฺขา
เอตํ
ญตฺวา ยถาภูตํ
นิพฺพานํ
ปรมํ สุขํ ฯ
ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง
สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์อย่างยิ่ง
บัณฑิตทราบเนื้อความนั่นตามความจริงแล้ว
(กระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน)
เพราะพระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง.
เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก
บรรลุอริยผลทั้งหลาย
มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น