05.เรื่องอุบาสกชื่อมหากาล
พระศาสดา
เมื่อประทับอยู๋ในพระเชตะวัน
ทรงปรารภอุบาสกผู้โสดาบันคนหนึ่งชื่อมหากาล ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า “อตฺตนา
หิ กตํ ปาปํ” เป็นต้น
ในวันอุโบสถวันหนึ่ง มหากาลอุบาสก ได้ไปที่วัดพระเชตวัน ในวันนั้น เขาได้รักษาศีล 8
(อุโบสถศีล)
และฟังธรรมอยู่ตลอดคืน
และในคืนเดียวกันนั้น
พวกโจรคณะหนึ่งได้เข้าไปปล้นบ้านหลังหนึ่ง
และเจ้าของบ้านหลังนั้นได้แกะรอยติดตามโจรเหล่านั้นมาอย่างกระชั้นชิด พวกโจรจึงวิ่งกระจัดกระจายไปคนละทิศละทาง มีโจรกลุ่มหนึ่งหนีมาทางวัดพระเชตวัน ช่วงนั้นเป็นช่วงใกล้จะสว่าง
มหากาลอุบาสกกำลังวักน้ำในสระที่อยู่ใกล้กับวัดล้างหน้าของตนอยู่
พวกโจรที่หนีมาเห็นจวนตัวจึงทิ้งทรัพย์ที่ปล้นมาไว้ในที่ไม่ไกลจากที่ที่อุบาสกมหากาลกำลังยืนวักน้ำล้างหน้าอยู่นั้น
เมื่อเจ้าของบ้านมาถึงตรงนั้นพบมหากาลยืนอยู่ไม่ไกลจากทรัพย์ที่โจรทิ้งไว้นั้น ก็เข้าใจว่ามหากาลเป็นโจร จึงเข้าไปทุบตีจนถึงแก่ความตาย ในตอนรุ่งสาง
ภิกษุหนุ่มและสามเณรน้อยกลุ่มหนึ่งที่วัดพระเชตวันไปที่สระแห่งนั้นเพื่อจะตักน้ำ
ได้ไปพบศพของมหากาลอุบาสกตอนตายอยู่ข้างสระก็จำได้ เมื่อกลับมาถึงวัด ก็ได้เขาไปกราบทูลพระศาสดาให้ทรงทราบ ถึงสิ่งที่พวกตนได้ไปพบเห็นมามา และกราบทูลด้วยว่า อุบาสกผู้นี้มาฟังธรรมอยู่ในวัดแท้ๆ แต่กลับมาตายอย่างนี้ เป็นการตายที่ไม่เหมาะไม่ควรเป็นอย่างยิ่ง พระศาสดาตรัสว่า
การตายของชายผู้นี้แม้ว่าจะไม่เหมาะไม่ควรในชาตินี้ แต่ก็เป็นการตายที่เหมาะที่ควรแก่กรรมที่กระทำในอดีตชาติ พระศาสดาได้นำเรื่องบุรพกรรมมาตรัสเล่าว่า การตายของชายผู้นี้เป็นการชดใช้กรรมเก่า คือ
ในอดีตชาติ ชายผู้นี้เป็นข้าราชการในราชสำนัก เกิดหลงรักภรรยาของชายผู้หนึ่ง และได้ทุบตีสามีของหญิงผู้นั้นถึงแก่ความตาย เพราะผลกรรมนั้นทำให้เขาไปเสวยทุกข์อยู่ในอเวจีมหานรกอยู่นาน ด้วยเศษของกรรม เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ จึงถูกทุบตีเสียชีวิตในชาตินี้
พระศาสดาครั้นตรัสบุรพกรรมของมหากาลอุบาสกแล้ว ตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย บาปกรรมอันตนทำไว้นั่นแล ย่อมย่ำยีสัตว์เหล่านั้น ในอบาย 4 อย่างนี้”
จากนั้น
พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท
พระคาถานี้ว่า
อตฺตนา
หิ กตํ ปาปํ
อตฺรชํ
อตฺตสมฺภวํ
อภิมตฺถติ
ทุมฺเมธํ
วชิรํ
วมฺหยํ มณึ ฯ
บาปอันตนทำไว้เอง
เกิดในตน
มีตนเป็นแดนเกิด
ย่อมย่ำยีบุคคลผู้มีปัญญาทราม
ดุจเพชรย่ำยีแก้วมณี อันเกิดแต่หิน ฉะนั้น.
เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง ภิกษุที่มาประชุมกัน บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น