วันศุกร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2557

อัตตวรรค:02.เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร



02.เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตะวัน  ทรงปรารภพระอุปนันทะศากยบุตร   ตรัสพระธรรมเทศฯนี้ว่า  อตฺตานญฺเจ  ปฐมํ  เป็นต้น

พระอุปนันทะศากยบุตร  เป็นผู้ฉลาดในธรรมกถาการสั่งสอนผู้อื่น  โดยท่านจะสอนผู้อื่นไม่ให้มีความละโมบ  ให้มีความมักน้อย  และท่านจะพรรณนาอานิสงส์ของความมักน้อย(อัปปิจฉตา)  และความขัดเกลากิเลสในรูปแบบของธุดงควัตร(ธุตังคะ) อยู่ เป็นนิตย์   แต่ในทางปฏิบัตินั้น  ท่านมิได้ปฏิบัติตามที่ท่านสอน  หากแต่ได้ไปนำเอาจีวรและปัจจัยอื่นๆที่คนถวายแก่พระรูปอื่นมาเป็นของตัวเอง 

มีอยู่คราวหนึ่ง  พระอุปนันทะศากยบุตร  ได้เดินทางไปที่วัดประจำหมู่บ้านแห่งหนึ่ง  ก่อนจะถึงวันเข้าพรรษา  พวกพระภิกษุหนุ่มรูปในวัดแห่งนั้น มีความประทับใจในคำสอนของท่าน  ก็ได้กราบอาราธนาท่านให้จำพรรษาในวัดแห่งนั้น  ท่านก็ได้ถามว่า  ปกติพระภิกษุที่จำพรรษาที่วัดแห่งนี้จะได้ผ้าจำนำพรรษากี่ผืน  เมื่อพวกภิกษุตอบว่าปกติจะได้ผืนเดียว  ท่านก็จึงไม่เข้าจำพรรษาในวัดแห่งแรกนี้  ได้แต่ฝากรองเท้าไว้คู่หนึ่ง   แล้วเดินทางไปยังวัดที่สอง  ท่านก็ได้ถามคำถามเดียวกันกับพระภิกษุในวัดที่สอง  เมื่อพวกพระภิกษุในวัดที่สองบอกว่า  จะได้ผ้าจำนำพรรษารูปละ  2  ผืน  ท่านก็ยังไม่เข้าจำพรรษาที่วัดแห่งที่สองนั้น  ได้แต่ฝากไม้เท้าไว้   แล้วเดินทางต่อไปยังวัดที่สาม  ท่านก็ตั้งคำถามแบบเดิมกับพระภิกษุในวัดที่สาม   เมื่อพวกพระภิกษุในวัดที่สามบอกว่า  จะได้ผ้าจำนำพรรษารูปละ  3  ผืน  ท่านก็ยังไม่ยอมเข้าจำพรรษาที่วัดที่สามนั้น  ได้แต่ฝากตุ่มน้ำเอาไว้  แล้วเดินทางต่อไปยังวัดที่สี่  เมื่อท่านถามพระในวัดที่สี่และพอทราบว่า จะได้ผ้าจำนำพรรษารูปละ  4 ผืน  ท่านก็ได้ตัดสินใจที่จะเข้าจำพรรษาที่วัดที่สี่นี้
เมื่อถึงวันออกพรรษา ท่านก็ได้ไปทวงผ้าจำนำพรรษาจากวัดต่างๆที่ท่านฝากสิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัวไว้นั้น  จากนั้นก็นำผ้าจำนำพรรษาทั้งหมดบรรทุกเกวียนเดินทางกลับวัดเดิม   ในระหว่างทาง  ท่านได้พบพระภิกษุหนุ่ม 2  รูปกำลังทะเลาะวิวาทกันเพราะได้จีวรมา 2 ผืนและผ้ากัมพล 1 ผืนแล้วแบ่งกันไม่ลงตัว   เมื่อพระทั้งสองรูปเห็นพระอุปนันทะมาก็ได้ขอร้องให้ท่านช่วยเป็นตุลาการตัดสินข้อพิพาทแย่งชิงผ้ากันในครั้งนี้  ท่านก็ได้ตัดสินให้พระแต่ละรูปได้จีวรไปรูปละผืน  ส่วนท่านเองได้ผ้ากัมพลราคาแพงในฐานะทำหน้าที่เป็นตุลาการ

พระภิกษุทั้งสองรูปไม่พอใจกับการตัดสินนั้น  แต่ก็ไม่ทราบว่าจะโต้แย้งอย่างไร  จึงได้นำความขึ้นกราบทูลพระศาสดา  และพระศาสดาตรัสว่า  พระอุปนันทะมิใช่จะสร้างความเดือนร้อนให้แก่พระทั้งสองรูปแต่เฉพาะในชาตินี้เท่านั้น  แต่ยังเคยสร้างเรื่องเดือดร้อนแบบนี้ในอดีตเหมือนกัน  จากนั้นได้ทรงนำเรื่องในอดีตมาเล่าว่า  นากสองตัว ไปได้ปลาตะเพียนมาตัวหนึ่ง   เกิดทะเลาะกันเพราะไม่สามารถแบ่งปลาตะเพียนตัวนั้นอย่างไรดี   เมื่อสุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งเดินผ่านมา จึงได้ขอร้องให้สุนัขจิ้งจอกตัวนั้น ช่วยทำหน้าที่เป็นตุลาการระงับข้อพิพาท  ข้างสุนัขจิ้งจอกก็ได้ตัดสินให้นากตัวหนึ่งได้ส่วนหางของปลาตะเพียน   ให้นากอีกตัวหนึ่งได้ส่วนหัวของปลาตะเพียน  สำหรับส่วนกลางของปลาตะเพียนให้ตกเป็นของนากผู้ทำหน้าที่เป็นตุลาการ  นากสองตัวในอดีตก็คือพระภิกษุสองรูปในปัจจุบัน  ส่วนสุนัขจิ้งจอกในอดีตก็คือพระอุปนันทะ  หลังจากที่ได้ทรงเล่าอดีตนิทานจบลงแล้ว  เมื่อจะทรงติเตียนพระอุปนันทะ จึงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย  ธรรมดาผู้จะสั่งสอนผู้อื่น  พึงให้ตนตั้งอยู่ในคุณอันสมควรสีก่อนทีเดียว

จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

อตฺตานเมว   ปฐมํ
ปฏิรูเป  นิเวสเย
อถญฺญมนุสาเสยฺย
  กิลิสฺเสยฺย  ปณฺฑิโต.

บัณฑิตพึงตั้งตนนั่นแล
ในคุณอันสมควรก่อน
พึงสั่งสอนผู้อื่นในภายหลัง
จะไม่พึงเศร้าหมอง.

เมื่อพระธรรมเทศฯจบลง  ภิกษุ 2 รูปนั้น  ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล  เทศนามีประโยชน์แม้แก่มหาชน.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น