07. เรื่องมหาธนวาณิช
พระศาสดา
เมื่อประทับอยู่ในพระเชตะวัน
ทรงปรารภพ่อค้ามีทรัพย์มาก
ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า
วาณิโชว
ภยํ มคฺคํ เป็นต้น
ที่กรุงสาวัตถี มีพ่อค้าที่ร่ำรวยมากผู้หนึ่งชื่อ มหาธนเศรษฐี และพวกโจรห้าร้อยก็ได้วางแผนที่จะปล้นท่านมหาธนเศรษฐีนี้ แต่ยังไม่สบโอกาสเสียที ในระหว่างนั้นเอง ท่านเศรษฐีได้เตรียมกองคาราวานเกวียนจำนวนห้าร้อยเล่มบรรทุกสินค้าจะไปค้าขายต่างเมือง
พวกโจรห้าร้อยกลุ่มเดียวกันนี้จึงได้วางแผนเพื่อจะปล้นท่านเศรษฐีในระหว่างการเดินทาง
แต่ก่อนจะออกเดินทางท่านเศรษฐีได้นิมนต์พระภิกษุสงฆ์จำนวนห้าร้อยรูปให้ร่วมเดินทางไปกับขบวนกองคาราวานเกวียนของท่านด้วย
ซึ่งท่านเศรษฐีได้ปวารณาว่าจะถวายปัจจัยสี่แด่พระภิกษุทั้งหลายที่จะร่วมเดินทางไปในคราวนี้ด้วย ข้างพวกโจรห้าร้อยเมื่อได้ข่าวการเดินทางของกองคาราวานเกวียนของท่านเศรษฐีก็ได้ไปวางกำลังกองโจรดักรอปล้นอยู่ตามจุดต่างๆของเส้นทางที่กองคาราวานจะเดินทางผ่าน ท่านเศรษฐีมีสายการข่าวที่ดีมาก
โดยท่านทราบข่าวเรื่องโจรดักปล้นในระหว่างทางเป็นระยะๆจากเพื่อนของท่านผู้หนึ่งซึ่งทำหน้าที่เป็นสายสืบคอยแจ้งเบาะแสของโจรให้ท่านได้ทราบทุกระยะ
เมื่อท่านเศรษฐีเห็นว่าหากท่านขืนนำกองคาราวานเกวียนบรรทุกสินค้าเดินทางต่อไปก็จะเป็นอันตรายไม่แคล้วถูกโจรปล้นแน่ๆ ท่านจึงเปลี่ยนใจที่จะพักกองเกวียนอยู่ที่ชายป่าเป็นกาลชั่วคราวเพื่อรอจังหวะให้ปลอดภัยจากพวกโจรเสียก่อนจึงจะเดินทางต่อไป
และท่านได้แจ้งให้พระภิกษุสงฆ์จำนวนห้าร้อยรูปที่ร่วมเดินทางให้ได้ทราบถึงการตัดสินใจของท่านในครั้งนี้ พร้อมกับกล่าวว่า พระภิกษุรูปใดต้องการจะพักอยู่กับกองคาราวานเกวียนต่อไปก็สามารถอยู่ได้
หรือว่าเห็นว่าไม่สะดวกจะเดินทางกลับไปที่กรุงสาวัตถีก็ได้
พวกภิกษุสงฆ์ทั้งหมดได้ตัดสินใจเดินทางกลับกรุงสาวัตถี
เมื่อเดินทางกลับไปแล้วก็ได้เข้าเฝ้าพระศาสดาที่วัดพระเชตวัน เมื่อพระศาสดาตรัสถามถึงสาเหตุของการไม่ไปกับกองคาราวานเกวียนของท่านเศรษฐี พระภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า
ที่เดินทางกลับก็เพราะมีโจรดักปล้นอยู่กลางทาง
ท่านเศรษฐีจึงพักกองเกวียนอยู่ที่ชายป่าไม่ยอมเดินทางต่อไป พระศาสดาจึงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย พ่อค้าผู้มีทรัพย์มาก ย่อมเว้นทางที่มีภัย เพราะความที่พวกโจรมีอยู่ บุรุษแม้ใคร่จะมีชีวิตอยู่ ย่อมเว้นยาพิษอันร้ายแรง แม้ภิกษุก็เช่นเดียวกันเมื่อทราบว่า ภพ 3 (กามภพ
รูปภพ และอรูปภพ)
เป็นเช่นกับหนทางที่พวกโจรซุ่มอยู่แล้ว
ก็ควรที่จะเว้นกรรมชั่วเสีย”
จากนั้น
พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า
วาณิโชว
ภยํ มคฺคํ
อปฺปสตฺโถ
มหทฺธโน
วิสํ
ชิวิตุกาโมว
ปาปานิ
ปริวชฺชเยฯ
บุคคลพึงเว้นกรรมชั่วทั้งหลายเสีย
เหมือนพ่อค้ามีทรัพย์มาก มีพวกน้อย
เว้นทางอันพึงกลัว
และเหมือนผู้ต้องการจะมีชีวิตอยู่ เว้นยาพิษเสีย
ฉะนั้น.
เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง ภิกษุเหล่านั้น บรรลุพระอรหัตตผล พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย พระธรรมเทศนา
ได้เป็นประโยชน์แม้แก่มหาชนผู้มาประชุมกัน.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น