10. เรื่องถวายบิณฑบาตแก่พระมหากัสสปเถระ
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ที่วัดเวฬุวัน
ทรงปรารภการถวายบิณฑบาตแก่พระมหากัสสปเถระ ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 56
นี้
เมื่อพระมหากัสสปเถระออกจากนิโรธสมาบัติแล้ว
ก็ได้เข้าไปบิณฑบาตในย่านที่อยู่อาศัยของคนยากจนในกรุงราชคฤห์ วัตถุประสงค์ของท่านก็คือต้องการจะเปิดโอกาสให้คนยากจนได้ผลานิสงส์อันยิ่งใหญ่จากการถวายบิณฑบาตแก่บุคคลที่เพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติ
ท้าวสักกะจอมแห่งเทวดาทั้งหลาย
มีพระประสงค์จะได้โอกาสนี้ถวายทานแด่พระมหากัสสปเถระ
จึงได้ทรงแปลงร่างเป็นช่างหูกชราเสด็จมาที่กรุงราชคฤห์พร้อมด้วยนางเทพธิดาสุชาดาซึ่งก็ได้แปลงร่างเป็นหญิงชรามาครั้งนี้ด้วย
พระมหากัสสปเถระได้มายืนอยู่ที่หน้าประตูบ้านของนายช่างหูกชราปลอม
ข้างนายช่างหูกชราปลอมได้ไปรับบาตรของพระเถระแล้วนำข้าวและกับข้าวบรรจุลงไป
ปรากฏว่ากลิ่นอาหารที่ใส่ลงไปในบาตรหอมฟุ้งตลบอบอวลไปทั่วกรุง
พระเถระจึงคิดว่าบุคคลผู้นี้จะต้องไม่ใช่มนุษย์ธรรมดาแน่ๆ
และท่านก็รู้ได้ด้วยญาณพิเศษว่าจะต้องเป็นท้าวสักกะ เมื่อท่านสอบถามท้าวสักกะได้ยอมรับความจริง และได้ประกาศว่าพระองค์ก็มีความยากจนมาก
เพราะว่าพระองค์ไม่มีโอกาสได้ถวายสิ่งใดๆให้แก่ใครๆในสมัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ทำให้มีเดชานุภาพไม่เท่ากับจูฬรถเทพบุตร มหารถเทพบุตร และอเนกวัณณเทพบุตร
เมื่อตรัสดังนี้แล้วท้าวสักกะพร้อมกับนางเทพธิดาสุชาดาได้ถวายนมัสการลาพระเถระแล้วเสด็จกลับคืนสู่เทวโลก
พระศาสดาประทับนั่งในพระคันธกุฎีในวัดพระเวฬุวัน
สามารถทอดพระเนตรเห็นท้าวสักกะและนางสุชาดาที่จะเสด็จลากลับคืนสู่เทวโลกนั้น จึงได้ตรัสบอกภิกษุทั้งหลายว่า
ท้าวสักกะเสด็จลงมาถวายบิณฑบาตแก่พระมหากัสสปเถระ
พระภิกษุทั้งหลายเกิดความสงสัยว่า ท้าวสักกะทรงทราบอย่างไรว่า
พระมหากัสสปะเพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติ และเป็นช่วงเวลาที่เหมาะที่สุดที่จะถวายบิณฑบาตแก่พระเถระ พระศาสดาตรัสตอบคำถามนี้ว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทั้งเหล่าเทพเจ้า ทั้งเหล่ามนุษย์
ย่อมพอใจภิกษุผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร อย่างเช่นบุตรของเรา” และได้ตรัสด้วยว่า “ภิกษุทั้งหลาย
ท้าวสักกะ ผู้เป็นจอมเทพเจ้าทั้งหลาย ได้เสด็จมาถวายบิณฑบาต
แก่บุตรของเรา เพราะกลิ่นศีล”
จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 56
ว่า
อปฺปมตฺโต อยํ คนฺโธ
ยวายํ ตครจนฺทนี
โย จ สีลวตํ คนฺโธ
วาติ เทเวสุ อุตฺตโมฯ
กลิ่นกฤษณา กลิ่นจันทน์
ยังหอมน้อย
ส่วนกลิ่นของผู้มีศีล เป็นยอดกลิ่น
ฟุ้งไปถึงเทวโลกทั้งหลายได้.
เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก ได้บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย
มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น
พระสัทธรรมเทศนามีประโยชน์แก่มหาชนแล้ว.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น