03. เรื่องพระเพฬัฏฐสีสเถระ
พระศาสดา
เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภท่านเพฬัทฐสีสะ ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 92 นี้
พระเพฬัฏฐสีสะ
ออกบิณฑบาตไปในหมู่บ้านมาแล้ว
ก็หยุดฉันภัตตาหารในระหว่างทาง
เมื่อฉันเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ก็ได้ออกบิณฑบาตต่อ เพื่อรับภัตตาหารมามากยิ่งขึ้น เมื่อท่านรวบรวมภัตตาหารเพียงพอแก่ความต้องการแล้ว
ก็กลับวัดแล้วนำข้าวสุกที่ได้ไปตากแห้งเก็บสะสมไว้
เมื่อทำเช่นนี้ท่านก็ไม่จำเป็นต้องออกไปบิณฑบาตทุกวัน ท่านจะนั่งเข้าฌานอยู่เป็นเวลา 2-3 วัน
เมื่อออกจากฌานแล้วท่านก็จะฉันข้าวตากที่เก็บไว้นั้น พวกภิกษุรู้เข้าก็ได้ติเตียนแล้วทูลความนั้นแด่พระศาสดา
นับแต่นั้นมาจึงได้มีพุทธบัญญัติห้ามภิกษุสะสมอาหารไว้รับประทาน
แต่สำหรับกรณีของพระเพฬัฏฐสีสะนั้น
เนื่องจากท่านสะสมอาหารก่อนที่จะมีวินัยบัญญัติสิกขาบทนี้ และท่านมิได้สะสมเพราะความละโมบ
แต่เป็นการสะสมเพื่อให้มีเวลาสำหรับเข้าฌาน
พระศาสดาจึงได้ทรงประกาศว่า พระเถระไม่มีโทษและท่านไม่ควรถูกติตียน
จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่
92 ว่า
เยสํ สนฺนิจโย นตฺถิ
เย ปริญฺญาตโภชนา
สุญฺญโต อนิมิตฺโต จ
วิโมกฺโข เยส
โคจโร
อากาเสว สุกุนฺตานํ
คติ เคสํ ทุรนฺวยาฯ
ผู้ที่ไม่มีการสั่งสม
มีการกำหนดรู้อาหารที่จะบริโภค
มีสุญญตวิโมกข์ และอนิมิตตวิโมกข์ เป็นโคจร
เป็นผู้มีคติ(ทางไปทางมา) รู้ได้ยาก
เหมือนทางไปทางมาของเหล่านกในอากาศ.
เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก
ได้บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย
มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น