07. เรื่องพระติสสเถระชาวกรุงโกสัมพี
พระศาสดา
เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน
ทรงปรารภสามเณรของพระติสสเถระ
ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 96 นี้
ครั้งหนึ่ง เด็กชายอายุแค่ 7
ขวบได้รับการบรรพชาเป็นสามเณร ตามคำขอร้องของผู้เป็นบิดา พระติสสเถระผู้เป็นอุปัชฌาย์
เอาน้ำมาชุบผมของเด็กนั้นให้ชุ่มแล้ว ให้ตจปัญจกกัมมัฏฐาน(กัมมัฏฐานมีหนังเป็นที่
5 –เกสา
โลมา ทันตา นขา ตโจ) ในเวลาปลงผมเสร็จ เด็กนั้นก็ได้บรรลุพระอรหัตตผล
พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย
ต่อมา
พระติสสเถระที่เป็นปุถุชนและสามเณรที่เป็นพระอรหันต์แล้วนั้น
ก็ได้ออกเดินทางไปกรุงสาวัตถีเพื่อจะเข้าเฝ้าพระศาสดา ในระหว่างการเดินทางนั้น
พระติสสะเถระและสามเณรได้ไปพักแรมอยู่ในวัดประจำหมู่บ้านแห่งหนึ่ง
ขณะที่พระติสสเถระซึ่งเป็นปุถุชนจำวัดก็หลับไปในทันที
สามเณรซึ่งเป็นพระอรหันต์กลับนั่งสมาธิอยู่ใกล้เตียงของพระอุปัชฌาย์
อยู่ตลอดทั้งคืน
พระติสสเถระตื่นขึ้นมาในเวลาใกล้รุ่ง
คิดว่าถึงเวลาที่จะต้องปลุกสามเณรให้ออกไปจากห้องไปเสียก่อนที่จะได้อรุณ
จึงไปจับพัดที่วางอยู่ข้างเตียงฟาดลงที่เสื่อลำแพนของสามเณร
แต่บังเอิญด้ามพัดไปกระทบถูกตาของสามเณรแตก
เมื่อถึงตอนเช้าสามเณรได้เอามือข้างหนึ่งปิดตา มืออีกข้างจับไม้กวาดกวาดห้องส้วม กวาดบริเวณวัด
ล้างหน้า ถวายน้ำล้างหน้า
ถวายไม้สีฟันแก่พระเถระ เป็นต้น
เมื่อตอนที่สามเณรนำน้ำไปถวายพระติสสเถระนั้น
ได้ใช้มือข้างเดียวนำเข้าไปถวาย
พระติสสเถระได้ดุว่าเป็นการกระทำที่ไม่สมควร ควรที่สามเณรจะต้องใช้มือทั้งสองข้างประคองเข้าไปถวายจึงจะถูกต้องตามธรรมเนียมปฏิบัติ สามเณรเรียนกับท่านว่าที่ต้องนำของไปถวายท่านด้วยมือข้างเดียวนั้น
เพราะมืออีกข้างต้องใช้กุมตาข้างที่ถูกท่านเอาด้ามพัดฟาดถูกโดยความบังเอิญจนแตก
พอได้ยินเช่นนี้พระติสสเถระก็รู้สึกตัวว่าได้กระทำความผิดอย่างร้ายแรงโดยที่ท่านมิได้มีเจตนา ท่านรู้สึกเสียใจมากและกล่าวคำขอโทษสามเณร
แต่สามเณรตอบว่า การกระทำครั้งนี้มิใช่เป็นความผิดของพระเถระและก็มิใช่ความผิดของสามเณรเอง
แต่เป็นผลของกรรมเท่านั้นเอง
เพราะฉะนั้นก็จึงได้ปลอบใจขอให้พระเถระอย่าได้เสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้เลย
แต่พระเถระก็ยังไม่วายวิตกกังวลกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้
พระติสสเถระและสามเณรได้เดินทางต่อไปจนถึงกรุงสาวัตถี
แล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดาในวัดพระเชตวัน จากนั้นพระติสสเถระได้กราบทูลพระศาสดาว่า
สามเณรที่ติดตามมากับท่านเป็นบุคคลที่ประเสริฐมาก ซึ่งท่านไม่เคยพบเห็นมาก่อน
และได้กราบทูลเรื่องต่างๆที่เกิดขึ้นในระหว่างการเดินทางมาแด่พระศาสดา พระศาสดาจึงตรัสกับพระติสสเถระว่า “ภิกษุ ธรรมดาพระขีณาสพทั้งหลาย ไม่โกรธ ไม่ประทุษร้าย ต่อใครๆ
เป็นผู้มีอินทรีย์สงบแล้ว
เป็นผู้มีใจสงบแล้วเทียว”
จากนั้น พระศาสดาได้ตรัส พระธรรมบท พระคาถาที่ 96 ว่า
สนฺตํ ตสฺส มนํ โหติ
สนฺตา วาจา จ กมฺมํ จ
สมฺมทญฺญา วิมุตฺตสฺส
อุปสนฺตสฺส ตาทิโนฯ
ผู้หลุดพ้นแล้ว เพราะรู้ชอบ
เข้าไปสงบแล้ว มีความคงที่
จะมีใจสงบ วาจาสงบ กายสงบ.
เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง พระติสสะชาวกรุงโกสัมพี ได้บรรลุพระอรหัต พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย พระสัทธรรมเทศนามีประโยชน์ แม้แก่คนนอกนี้.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น