วันพฤหัสบดีที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2557

พาลวรรค:14.เรื่องพระสุธรรมเถระ



14. เรื่องพระสุธรรมเถระ

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภพระสุธรรมเถระ  ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 73 และพระคาถาที่ 74

ครั้งหนึ่ง จิตตคฤหบดี เห็นพระมหานามเถระ หนึ่งในภิกษุคณะปัญจวัคคีย์  จึงรับบาตร นิมนต์เข้าไปในบ้าน  แล้วได้ถวายภัตตาหารแก่พระเถระ และเมื่อฟังธรรมของพระเถระแล้วก็ได้บรรลุพระโสดาปัตติผล  ต่อมาจิตตคฤหบดีได้สร้างวัดขึ้นในอุทยานชื่ออัมพาฏกวัน(สวนมะม่วง)ของตน ในมัจฉิกาสัณฑนคร  และคอยดูแลอุปถัมภ์พระภิกษุสงฆ์ที่เดินทางมาพักอยู่ที่วัดนี้ด้วยปัจจัยต่างๆเป็นอย่างดี  ที่วัดนี้มีพระสุธรรมเถระเป็นเจ้าอาวาส

วันหนึ่ง  พระอัครสาวกทั้ง 2  คือ พระสารีบุตรแลพระโมคคัลลานะ  ได้เดินทางไปที่วัดนี้ และจิตตคฤหบดีหลังจากฟังธรรมของพระสารีบุตรแล้ว ก็ได้บรรลุพระอนาคามิผล จากนั้นท่านคฤหบดีก็ได้อาราธนาพระอัครสาวกทั้ง 2 ไปรับอาหารบิณฑบาตที่บ้านในวันรุ่งขึ้น  ท่านคฤหบดีได้อาราธนาพระสุธรรมเถระเจ้าอาวาสด้วยเช่นกัน แต่พระสุธรรมเถระโกรธหาว่า อุบาสกนี้ นิมนต์เราภายหลังจึงปฏิเสธที่จะรับนิมนต์ แม้ว่าท่านคฤหบดีจะอ้อนวอนอยู่หลายครั้งก็ยังปฏิเสธว่าจะไม่ไปเช่นเดิม  แต่พอถึงเวลาจริงๆ ท่านพระสุธรรมเถระกลับเดินทางไปที่บ้านของจิตตคฤหบดีในตอนเช้าตรู่ของวันรุ่งขึ้น  เมื่อจิตตคฤหบดีนิมนต์ให้เข้าไปนั่งในบ้านท่านกลับปฏิเสธโดยกล่าวว่าท่านไม่ต้องการเข้าไปนั่งแต่ต้องการจะออกไปบิณฑบาต เมื่อท่านแลเห็นสิ่งของต่างๆที่จิตตคฤหบดีตระเตรียมไว้ถวายพระอัครสาวกทั้ง 2  ท่านก็เกิดความริษยาพระอัครสาวกทั้งสอง ถึงกับระงับความโกรธไว้ไม่อยู่  ท่านได้กล่าวเสียดสีจิตตคฤหบดีแล้วกล่าวว่า อาตมาไม่ต้องการอยู่ในวัดนี้อีกต่อไปแล้วแล้วก็จากไปด้วยความโกรธ
ท่านสุธรรมเถระได้เดินทางไปเฝ้าพระศาสดาและได้กราบทูลเรื่องที่เกิดขึ้นแด่พระศาสดา พระศาสดาได้ตรัสกับพระสุธรรมเถระว่า เธอด่าอุบาสกผู้ประกอบศรัทธาและมีอัธยาศัยใฝ่ทาน เธอจงกลับไปขอโทษความผิดต่ออุบาสกนั้นเสียพระสุธรรมเถระได้กลับไปขอโทษ แต่จิตตคฤหบดีไม่ยอมยกโทษให้ ท่านจึงต้องกลับไปเฝ้าพระศาสดาเป็นครั้งที่สอง พระศาสดาทรงทราบว่าคราวนี้พระสุธรรมเถระหมดทิฏฐิมานะแล้ว จึงตรัสว่า เธอจงไปเถิด ไปกับภิกษุผู้เก่งในทางเจรจา(อุปทูต) จงให้อุบาสกอดโทษแล้วตรัสอีกว่า พระที่ดีไม่พึงยึดติด ไม่พึงมีทิฏฐิมานะว่า   วิหารของเรา  ที่อยู่ของเรา  อุบาสกของเรา  อุบาสิกาของเรา เพราะเมื่อพระทำอย่างนั้น เหล่ากิเลส มีริษยาและมานะเป็นต้น ย่อมเจริญ

จากนั้น  พระศาสดาตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 73 และพระคาถาที่ 74 ว่า

อสนฺตํ ภาวมิจฺเฉยฺย
ปุเรกฺขารญฺจ ภิกฺขุสุ
อาวาเสสุ จ อิสฺสริยํ
ปูชา ปรกุเลสุ จฯ

ภิกษุพาล ย่อมปรารถนา
ความยกย่อง อันไม่มีอยู่
ความแวดล้อมในหมู่ภิกษุทั้งหลาย
ความเป็นใหญ่ในอาวาส
และการบูชาในตระกูลแห่งชนอื่นฯ

มเมว กตมญฺญนฺตุ
คิหิปพฺพชิตา อุโภ
มเมว อติวสา อสฺสุ
กิจฺจากิจฺเจสุ  กิสฺมิญฺจิ
อิติ พาลสฺส สงฺกปฺโป
อิจฉา มาโน จ วฑฺฒติฯ

ภิกษุโง่ คาดหวังว่า
ขอคฤหัสถ์และบรรพชิตทั้ง 2 ฝ่าย
จงสำคัญว่า กิจการงานทำเสร็จไปเพราะอาศัยเรา
ในกิจการทุกอย่าง
ไม่ว่าจะเป็นกิจการน้อยใหญ่ใดๆ
จะสำเร็จได้ก็โดยอาศัยเราเท่านั้น
ความทะยานอยาก และความถือตัวของภิกษุโง่นั้น ย่อมเพิ่มพูน.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก ได้บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น

ข้างพระสุธรรมเถระ ฟังโอวาทนี้แล้วก็ได้เดินทางไปที่บ้านของจิตตคฤหบดี ครั้งนี้ทั้งสองฝ่ายสามารถประนีประนีประนอมกันได้  และจากนั้นอีกไม่กี่วัน  พระสุธรรมเถระก็ได้บรรลุพระอรหัตตผล.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น